CATEGORIES
MENU

ชุดกรองลม + เครื่องทำลมแห้ง กับประสิทธิภาพลมอัดที่ดีกว่า

ระบบลมอัดหรือว่าระบบนิวเมติก ถือได้ว่ามีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบัน กล่าวคือ ถ้าเราสังเกตเครื่องไม้เครื่องมือที่เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในด้านของเครื่องจักร หรือว่าในระบบอัตโนมัติ(Automation System)ในปัจจุบัน เราจะเห็นว่าระบบเหล่านั้น มีการนำเอาระบบลมอัดมาใช้งานด้วยกันทั้งสิ้น เหตุผลง่ายๆก็คือ ประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมดีกว่า ควบคุมได้ดีกว่า และยืดหยุ่นกว่า เป็นต้น

คำถามก็คือ ถ้าเกิดว่าเราต้องการนำเอาระบบลมอัดมาใช้งานกับเครื่องจักร หรือระบบอัตโนมัติแล้ว เราควรจะมีการจัดการลมอัดดังกล่าวอย่างไรดี? ให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสมแก่การนำไปใช้งาน โดยที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาใดๆ กับระบบของเราในอนาคต

คำตอบอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นว่า มีความสมเหตุสมผลและเป็นไปได้ ตลอดจนมีผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเมติกส์ การันตีแล้วว่า ในระบบนิวเมติกส์นั้น ถ้าหากเราต้องการให้ลมอัดของเรามีประสิทธิภาพและสมบูรณ์มากที่สุดก็คือ ในระบบลมอัดของเราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี ชุดกรองและปรับคุณภาพลมอัด และ เครื่องทำลมแห้ง เอาไว้สำหรับจัดการและควบคุมคุณภาพลมอัดของเราค่ะ

ชุดกรองลมคืออะไร? ทำไมเราต้องใช้อุปกรณ์นี้ในระบบลมอัด

ชุดกรองลม คืออะไร

ชุดปรับปรุงคุณภาพลมอัด ชุดกรองลม คืออุปกรณ์อีกประเภทหนึ่ง(บางระบบอาจจะเรียกว่า Air Service Unit) ที่ทำหน้าที่ตรงกันกับชื่อของอุปกรณ์ นั่นก็คือ คอยกรองและปรับคุณภาพลมอัดในระบบนิวเมติกส์ของเรา ให้มีความสะอาด ไร้สิ่งเจือปน โดยสิ่งเจือปนที่หมายถึง จะมีด้วยกันดังนี้:

  • ไอน้ำ, ไอน้ำมัน, สารเคมีที่เป็นของเหลวรูปแบบต่างๆ
  • สนิม หรือเศษโลหะต่างๆ
  • ฝุ่นละออง หรือเศษพลาสติกเล็กๆ ที่ปะปนอยู่ในอากาศ

นอกจากนี้ ชุดกรองลมยังมีอุปกรณ์อื่นๆ ที่ต่อพ่วงเข้ามาเพื่อเพิ่มสมรรถนะให้กับอุปกรณ์ดังกล่าวด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นชุดปรับแรงดันลม และชุดจ่ายน้ำมันหล่อลื่น  หากท่านใดต้องการทราบรายละเอียดเกี่ยวกับชุดกรองปรับปรุงคุณภาพลม  ก็สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ ชุดกรองปรับคุณภาพลม แบบ F.R.L คืออะไร?

ในบางครั้งหรือในบางระบบ เราจะพบว่า การที่เราใช้ตัวกรองปรับคุณภาพลม ดังที่กล่าวไปแล้วในข้างต้นเพียงอย่างเดียว อาจจะยังไม่เพียงพอกับคุณภาพ และประสิทธิภาพของลมอัดที่เราอยากจะให้เป็นสักเท่าไหร่นัก ในกรณีที่ระบบนั้น ต้องการประสิทธิภาพหรือคุณภาพของลมอัดอย่างสูงสุด (สามารถพบได้ในระบบนิวเมติก ในโรงงานหรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่) ดังนั้นเราจะพบว่า ในระบบนิวเมติกส์ที่ดี ควรที่จะนำเครื่องทำลมแห้ง มาใช้ควบคู่กับชุดกรองลม ด้วยค่ะ

ตัวอย่างการใช้งาน ชุดกรองปรับคุณภาพลมอัด ในระบบนิวเมติกส์:

การใช้ชุดกรองปรับคุณภาพลมอัด ในระบบนิวเมติกส์

เครื่องทำลมแห้งหรือ Air Dryer คืออะไร?

เครื่องทำลมแห้ง หรือ Air Dryer คืออะไร

เครื่องทำลมแห้ง (Air Dryer) จะเป็นอุปกรณ์อีกอย่างหนึ่ง ที่ช่วยเก็บรายละเอียดในเรื่องของคุณภาพลมอัดให้กับระบบของเรา กล่าวคือ ถ้าหากในระบบของท่านมีอุปกรณ์อย่างอื่นที่ทำหน้าที่ผลิตลมอัด ยกตัวอย่างเช่น ปั๊มลม หรือ Air Compressor และลมที่ได้จากปั๊มลมนั้นอาจจะมีสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ปะปนมาด้วย และบางครั้งชุดกรองลมที่ท่านได้ต่อเข้ากับปั๊มลม(หรือในจุดอื่นเพื่อควบคุมคุณภาพลม) อาจจะยังกรองเอาสิ่งสกปรกออกจากลมอัดได้ไม่ดีเท่าที่ควร (ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของชุดกรองนั้นๆด้วย) ในกรณีนี้บางระบบก็เลยนำเอาเครื่องทำลมแห้งมาช่วยเก็บรายละเอียดในส่วนของตรงนี้ให้กับท่านค่ะ

เครื่องทำลมแห้งจะคอยช่วยในการ แยกเอาน้ำหรือความชื้นที่อยู่ในลมอัดออกจากกัน โดยหลักการทำงานของเครื่องทำลมแห้ง ในการแยกเอาสิ่งสกปรกออกจากลมอัด ที่เราสามารถพบได้ทั่วไปก็คือ:

  • สร้างความควบแน่นด้วยน้ำยาทำความเย็น เพื่อดูดซึมเอาความชื้นหรือไอน้ำออกจากลมอัด โดยเครื่องทำลมแห้งประเภทนี้จะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Refrigerated Air Dryer
  • ใช้เม็ดดูดความชื้น เพื่อดูดซึมเอาความชื้นหรือไอน้ำออกจากลมอัด เครื่องทำลมแห้งประเภทนี้จะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Desiccant Air Dryer

ตัวอย่างการใช้งาน เครื่องทำลมแห้ง(Air Dryer) ในระบบลมอัด:

เครื่องทำลมแห้ง(Air Dryer) ในระบบลมอัด

ข้อดีของการใช้เครื่องทำลมแห้งในระบบลมอัด

  • ผู้ใช้สามารถมั่นใจได้เลยว่า ลมอัดของท่านจะมีความสะอาดและบริสุทธิ์สูงขึ้นอย่างแน่นอน
  • ช่วยเพิ่มอายุการใช้งานให้กับท่อ วาล์ว และข้อต่ออื่นๆ ภายในระบบ
  • สามารถลดรอบในการบำรุงดูแลรักษาอุปกรณ์อื่นๆ ที่อยู่ในระบบลมอัดของเราได้เป็นอย่างดี

ข้อเสียของเครื่องทำลมแห้ง

  1. มีราคาค่อนข้างสูง
  2. ไม่เหมาะกับระบบลมอัดหรือระบบนิวเมติกส์ที่มีขนาดเล็ก
  3. ไม่เหมาะกับการใช้งานทั่วไปที่ไม่เน้นคุณภาพของลมอัด
  4. จำเป็นที่จะต้องมีผู้เชี่ยวชาญหรือชำนาญงานในการออกแบบ ติดตั้ง หรือบำรุงรักษาในระยะยาว
  5. สถานที่ติดตั้งจะต้องมีพื้นที่ และสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม สำหรับติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าว

ลักษณะของเครื่องทำลมแห้งที่ดี ต้องมีอะไรบ้าง?

  1. จะต้องเป็นอุปกรณ์ที่ผลิตจากผู้ผลิตที่สามารถเชื่อถือได้
  2. อุปกรณ์จะต้องผลิตด้วยวัสดุที่มีคุณภาพ อีกทั้งเกรดของวัสดุเหล่านั้นจะต้องสูงด้วย
  3. ชิ้นส่วนของอุปกรณ์โดยรวมจะต้องทนต่ออุณหภูมิที่สูงได้เป็นอย่างดี
  4. รองรับการใช้งานแบบหนัก หรือทนต่อการทำงานหนักแบบต่อเนื่องได้เป็นอย่างดี
  5. มีคู่มือในการออกแบบติดตั้งและบำรุงดูแลรักษา จากผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการ
  6. ในส่วนของชุดควบคุมจะต้องมีฟังก์ชันหรือออปชั่นต่างๆ ให้ผู้ใช้งานสามารถใช้ได้อย่างครอบคลุม

สิ่งที่อยากฝากส่งท้าย

ไม่ว่าจะเป็น ชุดกรองลม หรือ เครื่องทำลมแห้ง ต่างก็มีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันออกไปค่ะ ดังนั้นก่อนที่ท่านจะนำอุปกรณ์ทั้ง 2 ประเภทนี้มาใช้งาน ให้ท่านตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของการนำมาใช้งานก่อนว่า ระบบหรืองานของท่านนั้นเหมาะสมหรือจำเป็นที่จะต้องใช้หรือไม่ คุ้มค่าหรือเปล่า ซึ่งถ้าท่านยอมรับในค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย(สำหรับการซื้อชุดกรอง) และประสิทธิภาพของลมอัดที่ได้อย่างสูงเมื่อเทียบกับราคา(สำหรับการซื้อเครื่องทำลมแห้ง) ผู้เขียนเชื่อว่า อุปกรณ์ 2 ประเภทนี้สามารถช่วยให้ลมอัดในระบบของท่านมีคุณภาพมากยิ่งขึ้นได้อย่างแน่นอนค่ะ