CATEGORIES
MENU

การใช้งานชุดกรองลมในขั้นตอนการเตรียมลมอัด

ลมอัดที่มีความสะอาดและบริสุทธิ์สูงนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยปกป้องให้อุปกรณ์นิวเมติกต่างๆ ในระบบของเรามีการทำงานที่ดี ประสิทธิภาพที่สูง ตลอดจนมีอายุการใช้งานที่ยาวนานอีกด้วย ดังนั้นจะเห็นว่าระบบนิวเมติกส์ต่างๆในปัจจุบัน ต่างก็เน้นให้ลมอัดที่จ่ายให้กับระบบของตนเองนั้น มีคุณภาพมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อีกทั้งลมอัดดังกล่าวจะต้องมีการไหลที่เพียงพอต่อความต้องการของระบบด้วย

ลมอัดเกิดขึ้นเมื่อไหร่?

คอมเพรสเซอร์ สำหรับเตรียมลมอัด

ในขั้นตอนเริ่มแรกนั้นลมอัดจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ มีอุปกรณ์ที่จะช่วยทำหน้าที่ตรงนี้ให้กับเรา นั่นก็คือคอมเพรสเซอร์ เมื่อคอมเพรสเซอร์ได้ผลิตลมอัดแล้ว ก็จะนำลมที่ผลิตได้ไปเก็บไว้ในถังเก็บลม ที่อยู่ภายในคอมเพรสเซอร์อีกครั้งหนึ่ง

ที่นี้ก่อนที่เราจะนำลมอัดที่อยู่ในคอมเพรสเซอร์ไปใช้งานนั้น เราจำเป็นที่จะต้องมีการเตรียมอากาศหรือลมอัดให้มีคุณภาพเสียก่อน เพื่อให้เรามั่นได้ว่าลมอัดที่จะส่งไปให้อุปกรณ์อื่นๆนั้นมันมีประสิทธิภาพอย่างเพียงพอ และไม่ส่งผลเสียต่ออุปกรณ์เหล่านั้นในระยะยาว

ในระบบนิวเมติกส์ในปัจจุบันเราจะเห็นว่าได้มีการนำเอา อุปกรณ์ควบคุมคุณภาพลม เข้ามาช่วยในการปรับปรุงคุณภาพลมให้มีความง่ายดายมากยิ่งขึ้น ซึ่งอุปกรณ์นี้ก็จะมีหน้าที่หลักหลักก็คือ ปรับปรุงและควบคุมลมอัดให้มีคุณภาพสะอาดและบริสุทธิ์

อย่างที่เราทราบกันดีว่า การเดินทางของลมอัดระหว่างปั๊มลมไปจนถึงอุปกรณ์ที่ใช้งานลมอัด มันจะต้องผ่านทางท่อและวาล์วประเภทต่างๆ ที่อยู่ในระบบของเราเป็นจำนวนมาก แล้วเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ในช่วงดังกล่าวนั้นลมอัดของเราจะไม่มีการเปลี่ยนสภาพ หรือกลายสภาพเป็นอย่างอื่น และเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า จะไม่มีสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ รั่วไหลเข้ามาปะปนอยู่ในลมอัดของเรา อย่างเช่น ไอน้ำ น้ำมัน หรือเศษฝุ่นละอองต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น

ดังนั้นหากเราต้องการให้ลมอัดของเรามีความสะอาดอย่างที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น บวกกับต้องการเพิ่มอายุการใช้งานให้กับอุปกรณ์ต่างๆที่อยู่ในระบบ จำเป็นอย่างยิ่งที่ในขั้นตอนการเตรียมลมอัดจะต้องมีอุปกรณ์ที่เข้ามาช่วยในการปรับปรุงคุณภาพของลมให้กับระบบของเรา

ขั้นตอนการเตรียมลมอัดที่ดี ควรจะเป็นอย่างไร?

ขั้นตอนการเตรียมลมอัด

ในขั้นตอนการเตรียมลมอัดที่ดี จะต้องสามารถผลิตลมอัดได้อย่างต่อเนื่อง รักษาแรงดันลมอัดได้คงที่ ตลอดจนสามารถทำให้ลมอัดมีคุณภาพ เหมาะสมกับการนำไปใช้งานในระบบนิวเมติกส์ อีกทั้งจะต้องสามารถผลิตลมอัดได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการของระบบด้วย

ซึ่งไม่ว่าโหลดจะมีการใช้งานลมอัดมากขึ้นหรือน้อยลง หรือมีการสูญเสียแรงดันระหว่างทาง ในขั้นตอนการเตรียมลมอัดจะต้องสามารถรองรับกับปัญหานี้ได้ด้วย(พบมากในโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป) หรือสามารถกล่าวได้ง่ายๆ อีกอย่างหนึ่งว่า:

(1) หากโหลดมีการใช้งานลมอัดมากขึ้น ขั้นตอนการเตรียมลมอัดจะต้องสามารถผลิตลมอัดที่มีคุณภาพให้เพียงพอต่อการใช้งานของโหลด

(2) หากมีการรั่วไหลของลมอัดระหว่างทาง ระบบจะต้องแจ้งให้ผู้ใช้งานทราบว่ามีการรั่วไหนบริเวณใด หรือจะต้องสั่งงานให้ระบบเตรียมลมอัดทำการผลิตลมอัดให้มากขึ้น/น้อยลง/หยุดทำงาน ซึ่งขึ้นอยู่กับการออกแบบระบบ เพื่อให้ระบบมีความปลอดภัยที่เกิดจากข้อผิดพลาดดังกล่าว

นอกจากนี้ ขั้นตอนการเตรียมลมอัดจะต้องสามารถผลิตลมอัดได้มากกว่าแรงดันที่ระบบต้องการ 10-20% โดยแรงดันที่เกินมานี้จะต้องไม่เกินแรงดันสูงสุดที่ระบบสามารถรับได้

เริ่มต้นขั้นตอนการเตรียมลมอัดให้ระบบของเรากัน

บางท่านอาจจะยังสงสัยว่า ในระบบของเราไม่จำเป็นที่จะต้องมีขั้นตอนดังกล่าวนี้ได้หรือไม่ ซึ่งคำตอบที่อาจจะเป็นไปได้ก็คือ "ท่านสามารถที่จะเตรียมหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับความต้องการของระบบของท่าน" แต่ผู้เขียนเชื่อค่ะว่า ถ้าท่านอ่านบทความนี้เสร็จแล้ว ท่านต้องอยากที่จะเตรียมลมอัดให้กับระบบของท่านอย่างแน่นอน

ส่วนประกอบ/อุปกรณ์ที่จำเป็นจะต้องมี ในขั้นตอนการเตรียมลมอัด(ไม่นับรวมปั๊มคอมเพรสเซอร์)

(1) Soft Start Valve หรือวาล์วที่คอยช่วยจ่ายลมอัดให้มีระดับความเร็วน้อยๆไปจนถึงจ่ายเต็มที่ ตามที่ระบบของเราต้องการ ข้อดีของวาล์วประเภทนี้คือ จะช่วยยืดอายุการใช้งานให้กับอุปกรณ์อื่นๆ ภายในระบบของเราอีกด้วย

(2) Shutoff Relief Valve หรือวาล์วสำหรับระบายลมอัดทิ้งเมื่อเกินกำหนด (บางท่านอาจจะรู้จักในชื่อของ วาล์วลดแรงดัน) จะต้องสามารถทำงานได้ทั้งแบบเมนวลและอัตโนมัติ

(3) Air Service Unit ชุดควบคุมหรือปรับปรุงคุณภาพลมอัด โดยชุดนี้จะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ชุดกรองลมอัด" ส่วนใหญ่จะถูกติดตั้งหลังวาล์วลดแรงดัน ชุดกรองลมที่ดีและมีประสิทธิภาพสูงจะต้องสามารถกรองสิ่งสกปรกออกจากลมอัดในระดับ 40 ไมครอนได้ และความละเอียดในการกรองจะต้องน้อยกว่าหรือเท่ากับ 5 ไมครอน ชุดกรองปรับลมที่รองรับหรือสามารถกรองสิ่งเล็กๆขนาด 40 ไมครอนได้นั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งในระบบนิวเมติกส์ เพราะจะช่วยป้องกันพวกวาล์วต่างๆ ตลอดจนอุปกรณ์ที่เป็น กระบอกลม กระบอกสูบ หรืออุปกรณ์อื่นเช่น อุปกรณ์ประเภทเครื่องมือวัดต่างๆ ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

นอกจากนี้ชุดปรับปรุงคุณภาพลมอัดที่ดีจะต้องมีท่อสำหรับระบายน้ำ(Drain) ติดมาด้วย เพื่อให้ผู้ใช้หรือระบบได้ระบายน้ำที่ขังอยู่ในชุดดังกล่าวออก ส่วนใหญ่จะมีอยู่ 3 แบบด้วยกันคือ ระบายด้วยมือ ระบายแบบกึ่งอัตโนมัติ และแบบอัตโนมัติ

อีกทั้งถ้วยของชุดกรองลม(Bowl) จะต้องสามารถถอดออกหรือประกอบกลับได้ง่าย(อาจจะเป็นแบบเกลียวหรือสวม) เพราะว่าเวลาเราใช้งานชุดกรองลมอัดไปนานๆ มักจะมีสิ่งสกปรกสะสมอยู่ภายในถ้วย ซึ่งเราจะต้องถอดตัวถ้วยนี้ออกมาทำความสะอาด ตลอดจนแผ่นกรอง(Filter) ที่อยู่ในชุดกรองด้วย

เริ่มต้นการปรับแต่งแรงดันให้กับระบบ(ผ่านชุดปรับแรงดันที่อยู่ในชุดกรองลม)

ชุดปรับแรงดันลมและชุดกรองลม

โดยปรกติถ้าท่านซื้อหรือมีชุดกรองลมดักน้ำแบบ 3 ตัวเรียง F.R.L แล้วล่ะก็ ท่านสามารถปรับแรงดันของลมอัดได้ตามความเหมาะสมกับระบบของท่าน ผ่านชุดปรับแรงดันลมอัด(Regulator)ที่มาพร้อมชุดกรองลมได้เลย ซึ่งการปรับจะต้องเริ่มจากน้อยไปหามาก(แรงดัน) ปรับไปจนกว่าจะถึงแรงดันที่อุปกรณ์ในระบบสามารถทำงานได้อย่างคงที่(Stable) จากนั้นหยุดและให้ท่านสังเกตุการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆที่อยู่ในระบบว่า ทำงานปรกติหรือไม่

ชุดปรับแรงดันลมอัด regulator ที่ดีจะต้องรองรับการปรับแรงดันได้กว้างและครอบคลุมต่อความต้องการของระบบของเรา มีสปริงที่ผลิตจากวัสดุที่ได้มาตรฐาน มีวาล์ว/รู/ปุ่มสำหรับกดปล่อยลมอัดทิ้ง ซึ่งเราสามารถพบได้ในชุดกรองลมดักน้ำในรุ่นใหม่ๆเช่น ชุดกรองปรับแรงดันลม SMC และอีกค่ายหนึ่งคือ ชุดกรองลมปรับแรงดันลมยี่ห้อแอร์แทค AirTac

จ่ายน้ำมันหล่อลื่น เพื่ออายุการใช้งานที่ยาวนานยิ่งขึ้น

ผู้เขียนเชื่อว่าคำว่าระบบนั้น จำเป็นที่จะมีการทำงานที่ได้ประสิทธิภาพ มีความยืดหยุ่นสูง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะได้มาก็ต่อเมื่อ อุปกรณ์ต่างๆที่อยู่ในระบบของเรานั้นทำงานได้ดี และถูกต้องตามข้อกำหนดของอุปกรณ์นั้นๆ ซึ่งการทำงานที่ดีนั้นอาจจะมาจากประสิทธิภาพของอุปกรณ์เอง หรือมาจากการดูแลบำรุงรักษาที่ดี สม่ำเสมอของผู้ใช้งานเองด้วย

น้ำมันหล่อลื่นก็ถือได้ว่าเป็นตัวเลือกที่คุ้มค่าที่เราควรที่จะนำมาใช้กับอุปกรณ์หรือระบบของเรา เพื่อประโยชน์อย่างเดียวเท่านั้นคือ ยืดอายุการใช้งานให้กับอุปกรณ์นั่นเอง ซึ่งน้ำมันหล่อลื่นที่นิยมใช้งานกันในระบบนิวเมติกส์ในปัจจุบันก็จะมีด้วยกันหลายแบบ ยกตัวอย่างเช่น น้ำมันหล่อลื่นเกรด SAE 10 และ ISO VG32 เป็นต้น

ในปัจจุบันเราอาจจะพบว่ามีอุปกรณ์นิวเมติกส์บางตัวที่ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำมันหล่อลื่น หรือมีน้ำมันหล่อลื่นมาให้ในตัว อันนี้ก็ถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีค่ะ เพราะจะทำให้ผู้ใช้งานสามารถนำไปใช้ได้ยากมากยิ่งขึ้น

อีกครั้งค่ะ หากท่านได้ติดตั้งชุดกรองลมดักน้ำที่มีชุดจ่ายน้ำมันหล่อลื่นมาให้ในตัว ท่านเพียงศึกษาข้อมูลการใช้งาน และปรับแต่งเพียงเล็กน้อยตามคู่มือเท่านั้น ท่านก็จะสามารถยืดอายุให้กับอุปกรณ์นิวเมติกส์ของท่านได้แล้วล่ะค่ะ

สรุปส่งท้ายบทความ

สำหรับขั้นตอนการเตรียมลมอัดในระบบนิวเมติกส์นั้นไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องง่ายหรือยากจนเกินไป เพียงแค่ท่านทำความเข้าใจถึงพื้นฐานและขึ้นตอนการทำงาน และอุปกรณ์ที่จำเป็นจะต้องใช้ในขั้นตอนนี้ ท่านก็จะสามารถมีลมอัดเพื่อที่จะนำไปใช้ในระบบนิวเมติกส์ของท่านได้แล้วล่ะค่ะ