CATEGORIES
MENU

การปรับแต่งชุดกรองลมดักน้ำ เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด part 2

หลังจากหลายวันก่อนที่ได้ลงเนื้อหาเกี่ยวกับ การปรับแต่งเพื่อใช้งาน ชุดกรองลมดักน้ำ ให้มีประสิทธิภาพอย่างสูงสุด ใน part 1 ไปแล้ว เนื้อหาบทความนี้ก็จะมาต่อ และสรุปในส่วนที่เหลือให้ได้อ่านกันเพิ่มเติมค่ะ

การปรับแต่ง ชุดกรองลม ดักน้ำ

โดยบทความครั้งที่แล้ว(คลิกที่ลิงค์ด้านบน) จะมีรายการต่างๆ ที่จำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญ และพิจารณาก่อนเป็นอันดับแรก ถ้าหากว่าหลายๆ ท่านอยากให้ ชุดกรองลมดักน้ำ (ชุดปรับปรุงคุณภาพลมอัด) ของตนเองทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยจะมีรายการดังต่อไปนี้:

1) เป็นไปได้ควรใช้ ตัวกรองที่มีขนาดที่เหมาะสม กับรูปแบบการใช้งานของท่าน
2) คุณภาพของระดับการกรอง หรือไมครอน(μm) จะต้องมีความถูกต้องแม่นยำและเหมาะสม
3) ถ้าหากว่าท่านพบว่า ชุดกรองลมดักน้ำทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพเท่าที่ควร ท่านควรนำอุปกรณ์ดังกล่าวออกมาซ่อมแซมหรือปรับปรุง เช่น ทำความสะอาด หรือเปลี่ยนอุปกรณ์ย่อยตัวใหม่
4) พิจารณาในเรื่อง วัสดุที่นำมาผลิตชุดกรองลม ว่าได้มาตรฐานถูกต้อง ตามหลักสากล(ISO) หรือไม่
5) ถ้าเป็นระบบที่ต้องการ ความคงที่และสม่ำเสมอของแรงดัน แนะนำให้ติดตั้งชุดปรับปรุงแรงดันลมอัด(Lubricators) เพิ่มเติม เพราะชุดดังกล่าวจะช่วยให้ แรงดันในระบบมีความคงที่ สม่ำเสมอ อีกทั้งช่วยยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์อื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงด้วย

เนื้อหาสำคัญของบทความนี้

6. ติดตั้งชุดจ่ายน้ำมันหล่อลื่น(Lubricators) เพื่อยืดอายุการใช้งาน

น้ำมันหล่อลื่นถือได้ว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่ช่วยให้อุปกรณ์ต่างๆ (ในระบบนิวเมติกส์ หรือระบบอื่นๆ)ทำงานได้ดีขึ้น เพราะอุปกรณ์นิวเมติกส์หรือไฮโดรลิค(อาจจะมีเครื่องมือช่าง ประเภทอื่นๆด้วย) จำเป็นที่จะต้องใช้น้ำมันหล่อลื่น มาช่วยในการลดความเสียดทานของเนื้อวัสดุ และลดการสึกหรอของอุปกรณ์ ทำให้อายุการใช้งานของอุปกรณ์ยาวนานขึ้น

จ่ายน้ำมันหล่อลื่น Lubricators

บางครั้งเราจะพบว่าตัวจ่ายน้ำมันหล่อลื่นเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แรงดันในระบบลดลงบ้างเล็กน้อย แต่นั่นก็ไม่มากเท่าใด และเป็นปัญหาที่ผู้ใช้งานส่วนใหญ่สามารถรับได้ เมื่อเทียบกับคุณภาพของระบบที่ได้รับ ซึ่งแรงดันที่ลดลงไปนั้นจะเป็นการสูญเสียแรงดันที่อยู่ในช่วง 3-7 psig เท่านั้น

การเลือกชุดจ่ายน้ำมันหล่อลื่นที่ดี ควรดูความเหมาะสมกับระบบของเรา และอุปกรณ์อื่นๆ ที่จะนำไปติดตั้งควบคู่ด้วย (ในที่นี้จะหมายถึง ชุดกรองลมดักน้ำ)

โดยทั่วไปชุดจ่ายน้ำมันหล่อลื่นจะมีอัตราการไหลที่มากกว่าชุดกรองหรือชุดปรับปรุงแรงดันลมที่มีขนาดเท่ากัน

7. งดการใช้ตัวจ่ายน้ำมัน กับงานที่ไม่จำเป็น

ถ้าหากเราพบว่าระบบหรือรูปแบบการใช้งานของเรานั้นไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ตัวจ่ายน้ำมันหล่อลื่น เราสามารถที่จะไม่ติดตั้งชุดดังกล่าวได้เช่น ระบบกรองลมอัดเพื่อจ่ายให้กับกระบอกลมหรือกระบอกสูบนิวเมติกที่มีสารหล่อลื่นอยู่แล้วในตัว หรือระบบที่ไม่เน้นคุณภาพของลมอัด เพราะถ้าเราติดตั้งชุดปรับจ่ายน้ำมันหล่อลื่นเข้าไปในระบบ อาจจะทำให้อุปกรณ์อื่นที่อยู่ใกล้เคียงทำงานผิดพลาดหรือซ้ำซ้อนกันได้ นอกจากนี้ยังเสียค่าใช้จ่ายและพลังงานที่ใช้ในระบบโดยไม่จำเป็นอีกด้วย

8. ใช้ชุดกรองลมดักน้ำแบบเป็นชุดเดียวกัน (F.R.L Combination)

ความหมายของคำว่าชุดเดียวกันในที่นี้หมายถึงว่า หากเป็นไปได้แล้ว เราควรเลือกชุดกรองลมที่มีชุดต่างๆ ประกอบเข้าเป็นชุดเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นชุดกรอง ชุดปรับแรงดันลมอัด และชุดจ่ายน้ำมันหล่อลื่น (ยกตัวอย่างเช่น ชุดกรองลมในรุ่น GFR Series) ข้อดีของการซื้อเป็นชุดก็คือ ลดขั้นตอนและระยะเวลาในการแยกซื้ออุปกรณ์แบบแยกส่วน ขั้นตอนการประกอบอุปกรณ์แต่ละชุด สามารถลดข้อสงสัย และการตรวจสอบในเรื่องของท่อและวาล์วและ option อื่นๆ ของอุปกรณ์แต่ละตัวว่าสามารถใช้งานด้วยกันหรือไม่

การเลือกชุดกรองลมดักน้ำประเภทนี้จะนิยมใช้กับ ระบบนิวเมติกที่มีขนาดกลาง-ใหญ่ หรือระบบ automation(ระบบอัตโนมัติ) ต่างๆ ที่อยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมเป็นต้น

ส่วนข้อเสียของการซื้ออุปกรณ์ดังกล่าวแบบเป็นชุดก็คือ บางครั้ง บางชุดหรือบางยี่ห้ออาจจะมีราคาที่สูงกว่าแบบแยกซื้ออุปกรณ์ แต่ถ้าเปรียบเทียบกันในเรื่องความสะดวกและความยืดหยุ่นในการใช้งานในระยะยาวแล้ว ถือได้ว่าชุดกรองลมดักน้ำแบบ F.R.L Combination นี้ให้ความคุ้มค่าที่มากกว่าอย่างแน่นอน

9. ติดตั้งชุดเซนเซอร์ เพื่อความแม่นยำในการทำงาน

ชุดเซ็นเซอร์ ระบบนิวเมติกส์

ถ้าหากว่าเราต้องการให้ชุดปรับปรุงคุณภาพลมอัดหรือชุดกรองลมดักน้ำของเรา ทำงานได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น เราสามารถที่จะหาชุดเซ็นเซอร์ประเภทต่างๆ มาติดตั้งเพิ่มเติมได้  เช่นชุดเซ็นเซอร์ตรวจสอบอัตราการไหล ซึ่งในปัจจุบันชุดเซ็นเซอร์ประเภทดังกล่าวนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น เพราะอุปกรณ์ประเภทนี้มีความแม่นยำในการวัดช่วงการไหลที่กว้าง ตลอดจนสามารถให้ข้อมูลอัตราการไหลที่แน่นอนและแม่นยำ

ส่วนอุปกรณ์ประเภทเซ็นเซอร์ในรูปแบบอื่นๆ ที่เราสามารถติดตั้งเพิ่มเข้าไปได้ก็คือ ชุดเซ็นเซอร์ประเภทตรวจจับการใช้งานแรงดัน การใช้งานพลังงานโดยรวมของระบบ การรั่วไหลของแรงดันภายในระบบ เป็นต้น

ข้อดีของการใช้ชุดเซ็นเซอร์ให้กับชุดกรองลมอัด F.R.L หรือในระบบนิวเมติกส์ก็คือ เราสามารถทราบค่าพลังงาน และค่าใช้จ่ายของระบบ (หรืออุปกรณ์นั้นๆ)ได้ ซึ่งค่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นตัวบ่งบอกว่าระบบหรืออุปกรณ์ของเรา มีประสิทธิภาพมากเท่าใด

10. ใช้เครื่องมือที่ทันสมัย ในการออกแบบระบบ

ในปัจจุบันนี้มีโปรแกรมที่ช่วยให้เราสามารถออกแบบระบบนิวเมติกได้อย่างง่ายดายในลักษณะ 2 มิติ และ 3 มิติ โดยโปรแกรมหลายๆ ตัวจะสามารถแนะนำ หรือเลือกอุปกรณ์ให้กับเราได้เลยในทันที ซึ่งโปรแกรมจะเป็นตัววิเคราะห์ และคำนวณถึงความเหมาะสม ตามรูปแบบการใช้งานของผู้ใช้เป็นหลัก จากนั้นก็จะสรุปข้อมูลให้ผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบ การติดตั้ง การบำรุงรักษาในระยะยาว ตลอดจนคุณสมบัติของอุปกรณ์ในแต่ละส่วนที่จำเป็นต้องนำมาติดตั้งในระบบ

โปรแกรมออกแบบ ระบบนิวเมติกส์

ข้อเสียของโปรแกรมดังกล่าวก็คือ มีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ไม่เหมาะสมกับงานที่มีขนาดเล็กมีความซับซ้อนเพียงเล็กน้อย ส่วนใหญ่แล้วจะถูกนำไปใช้งานกับองค์กรขนาดใหญ่ หรือระดับผู้ผลิตเท่านั้น

สรุปส่งท้าย

สิ่งที่ผู้เขียนอยากจะแนะนำก็คือ การที่เราจะใช้อุปกรณ์นิวเมติกส์(ยกตัวอย่างเช่น ชุดกรองลมดักน้ำ ที่นำเสนอไปแล้ว เป็นต้น) หรือไฮโดรลิคประเภทใดๆ ก็แล้วแต่ให้ได้ประสิทธิภาพอย่างสูงสุดแล้ว ง่ายๆค่ะ นั่นก็คือ ความเหมาะสมและความจำเป็นนั่นเอง เอาไว้โอกาสหน้าผู้เขียนจะนำข้อมูลดีๆเกี่ยวกับการปรับแต่งอุปกรณ์นิวเมติกส์/ไฮโดรลิคมาฝากกันอีกน่ะค่ะ