CATEGORIES
MENU

[Tutorial] การทดสอบวาล์วไฟฟ้าด้วยวิธีง่ายๆ ก่อนนำไปใช้งาน

ในปัจจุบัน วาล์วไฟฟ้า ถือได้ว่ามี ประโยชน์และความสำคัญ ต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์เราเป็นอย่างมาก ใช่ค่ะ! เชื่อว่าทุกๆท่านคงจะทราบดีกันอยู่แล้ว เนื่องจากหน้าที่หลักของวาล์วประเภทนี้ก็คือ ทำหน้าที่เป็นตัวควบคุมหรือจ่ายน้ำหรือของไหล ให้กับส่วนต่างๆ ที่เราต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายน้ำเพื่อทำความสะอาด(ฟาร์มเลี้ยงสัตว์, ห้องน้ำในห้างหรือตามปั๊มน้ำมัน) หรือจ่ายน้ำเพื่อใช้ในการดำรงชีวิตของพืชและสัตว์(สวนหย่อม, ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์, สวนผักและผลไม้ชนิดต่างๆ) โดยที่เราไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานจากมนุษย์เข้ามาช่วยในการเปิดปิด หรือควบคุมการทำงานดังกล่าวให้นั่นเองค่ะ ซึ่งในระบบใหญ่ๆ จะเห็นว่ามีระบบควบคุมอัตโนมัติ เข้ามาจัดการส่วนนี้ให้กับเรา บางระบบสามารถตั้งเวลา(Timer) ติดตั้งตัวตรวจจับอุณหภูมิ(PROBE, SENSOR) เพื่อกำหนดการทำงานของวาล์วได้เลยก็มี ยกตัวอย่างเช่น การใช้งานวาล์วไฟฟ้ากับระบบไอน้ำ/น้ำร้อน/สตีมมิ่ง เป็นต้น

ในด้านของการใช้งาน ถ้าหากว่าเรามีการนำวาล์วประเภทดังกล่าวไปใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใดๆ เราควรมีการออกแบบ หรือติดตั้งให้ถูกต้อง และมีความเหมาะสม กับการทำงานของวาล์วประเภทนั้นๆด้วย แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราพบว่าวาล์วไม่สามารถที่จะทำงานได้อย่างถูกต้องแล้ว เราจำเป็นที่จะต้องมีการตรวจสอบวาล์วดังกล่าวก่อนค่ะว่า สาเหตุที่มีการทำงานผิดพลาดนั้นเกิดขึ้นจากสาเหตุใด หรือถ้าหากเป็นไปได้ เราควรพิจารณาถึงประเด็นสำคัญต่างๆ ก่อนเลือกซื้อวาล์วประเภทนี้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น พิจารณาในเรื่องของ การเลือกซื้อวาล์วไฟฟ้าให้เหมาะสมกับรูปแบบงาน ด้วยเช่นกันค่ะ

ในบทความนี้ แอดมินจะมาแนะนำเทคนิคเล็กๆน้อยๆ เกี่ยวกับการทดสอบวาล์วไฟฟ้า ก่อนที่จะนำไปติดตั้งเพื่อใช้งานจริงค่ะ (สามารถอ้างอิงได้ทั้งแบบวาล์วน้ำและวาล์วลม ที่มีคอยล์แบบไฟฟ้า) ซึ่งถ้าหากว่าเรามีการทดสอบก่อนแล้ว เราก็จะสามารถลดระยะเวลาในการหาสาเหตุ/ปัญหา ในกรณีที่ระบบเราทำงานผิดพลาดอันเนื่องมาจากวาล์วได้ ตลอดจนเราสามารถเพิ่มความมั่นใจได้ว่า วาล์วที่เราใช้อยู่นั้นสามารถใช้งานได้อย่างปกตินั่นเอง

ขั้นตอนง่ายๆ ในการทดสอบวาล์ว คุณเองก็ทำได้

1. ถอดวาล์วและอุปกรณ์ใกล้เคียงวาล์วออกจากระบบ

ตัวอย่างอุปกรณ์ตรวจจับ ชุดเซ็นเซอร์

* รูปตัวอย่างชุดเซ็นเซอร์อุณหภูมิ

ถ้าในระบบของเรามีการใช้ "อุปกรณ์เซ็นเซอร์เกี่ยวกับตรวจสอบน้ำ/ของไหลแบบอิเล็กทรอนิกส์" หรืออุปกรณ์เซ็นเซอร์อื่นๆ ที่ถูกติดตั้งควบคู่กับวาล์ว ให้เราใช้ไขควงหรือเครื่องมือที่เหมาะสม ถอดชุดเซ็นเซอร์ดังกล่าวออกเสียก่อนค่ะ อีกทั้งเราจำเป็นที่จะต้องถอดชุดจ่ายไฟให้กับวาล์ว หรือชุดจ่ายไฟของระบบออกด้วย(อันนี้ค่อนข้างจำเป็นน่ะค่ะ) คำถามคือ ถอดออกเพื่ออะไร? คำตอบก็คือ เพื่อป้องกันข้อผิดพลาด ที่จะเกิดขึ้นในระหว่างการทดสอบวาล์วของเรานั่นเองค่ะ และสุดท้ายต่อมาก็คือ ถอดตัววาล์วออกมาจากระบบเพื่อทดสอบในขั้นต่อไปค่ะ

ข้อมูลเพิ่มเติม: ถ้าเราสังเกตจะพบว่า วาล์วไฟฟ้าหลายๆประเภท จะมีขดลวดที่เป็นแม่เหล็กไฟฟ้าเชื่อมต่ออยู่ภายใน อีกทั้งภายในวาล์วยังมีกลไกอีกด้วย โดยกลไกดังกล่าวจะมีหน้าที่ "ควบคุมการเปิดปิดน้ำ/ลม หรือของไหลประเภทอื่นๆ ระหว่างด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่งของวาล์ว(ขาเข้า->ขาออก)

2. มาเริ่มต้นทดสอบด้วย "มัลติมิเตอร์" กันดีกว่า

มิเตอร์เข็มสำหรับทดสอบวาล์วไฟฟ้า

ตัวอย่างมิเตอร์แบบตัวเลข

* รูปตัวอย่างมิเตอร์แบบเข็มและแบบตัวเลข

มัลติมิเตอร์ในที่นี้ จะเป็นเครื่องมือหลัก ที่ใช้สำหรับทดสอบการทำงานของขดลวดไฟฟ้า ที่อยู่ภายในวาล์วค่ะ โดยเราสามารถใช้มิเตอร์ดังกล่าวเช็คได้ว่าขดลวดนั้นอยู่ในสถานะปกติหรือไม่ โดยสถานะปรกติที่หมายถึงนี้ก็คือ ไม่ขาดหรือไม่ช็อตภายในขดลวดเอง โดยมิเตอร์ที่จะนำมาทดสอบนี้ควรที่จะเป็น "มิเตอร์แบบเข็ม" น่ะค่ะ หรือถ้าหากท่านใดชำนาญหรือมีแบบตัวเลข(ดิจิตอล) ก็สามารถใช้ได้เช่นกันค่ะ

การเช็คขดลวดว่ามีการชอร์ทรอบหรือไม่ สามารถทำได้ง่ายๆดังนี้:

- ก่อนอื่น ให้เราตั้งย่านมิเตอร์ไว้ที่ย่าน "โอห์ม"
- จากนั้นใช้ปลายเข็มวัดของมิเตอร์ต่อคร่อมเข้ากับ ขดลวดไฟฟ้าของวาล์ว ได้เลยในทันที
- ค่าความต้านทานของขดลวดไฟฟ้า โดยปรกติจะต้องอยู่ระหว่าง 1-3 โอห์ม(ohms) หรือมากกว่าเล็กน้อยค่ะ
- ถ้าหากว่าเราต่อตามขั้นตอนดังกล่าวแล้วเข็มมิเตอร์ขึ้นสุด หรือชี้ไปยังด้านขวามือสุดของหน้าจอมิเตอร์(Out-range) อาจจะเป็นไปได้ว่าขดลวดนั้น "อาจจะมีการชอร์ทรอบ" เกิดขึ้นภายในขดลวดเอง
- ถ้าเข็มมิเตอร์ไม่ขึ้นเลยแสดงว่า "ขดลวดภายในอาจจะมีการขาด" ไปแล้วก็ได้ค่ะ
- หากพบว่า "ขดลวดขาดหรือชอร์ทรอบ" แสดงว่าเราไม่สามารถที่จะใช้วาล์วตัวนั้นได้แล้ว ควรทำการเปลี่ยนขดลวดใหม่ หรือหาวาล์วตัวใหม่มาใช้งานแทน น่าจะดีและปลอดภัยต่อการใช้งานในอนาคตค่ะ

คำแนะนำก่อนทดสอบวาล์วด้วยมิเตอร์: หากเป็นไปได้ ก่อนการทดสอบขดลวดวาล์ว ให้เราทำการถอดแบตเตอรี่หรือแหล่งจ่ายไฟ ที่ต่อเข้ากับระบบหรือต่อเข้ากับตัววาล์วออกก่อนทุกครั้งน่ะค่ะ

3. การทดสอบโดยใช้แหล่งจ่ายไฟ

วาล์วไฟฟ้าแบบทองเหลือง

* ตัวอย่างวาล์วไฟฟ้า(แบบทองเหลือง)ที่ใช้คอยล์แบบ 12VDC

ก่อนที่เราจะทำการทดสอบการทำงานด้วยกระแสไฟฟ้านั้น เราต้องมั่นใจก่อนค่ะว่า วาล์ใช้คอยล์ไฟฟ้าแบบไหน ซึ่งหลักๆแล้วจะมีอยู่ 2 ประเภทด้วยกันคือแบบ VAC และ VDC เท่านั้น ซึ่งในวาล์วบางรุ่นจะเขียนติด Label ไว้ที่คอยล์ให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนเลยค่ะ ยกตัวอย่างเช่น วาล์วทองเหลือง 2 ทาง 2W series เป็นต้น

- ถ้าเป็นวาล์วแบบใช้ ไฟกระแสตรง(VDC) เราจะสังเกตเห็นว่า ตัวถังของวาล์ว จะมีสายไฟอยู่ 2 เส้น ซึ่งสายไฟดังกล่าวก็คือ สายไฟที่เราจำเป็นที่จะต้องต่อเข้ากับแหล่งจ่ายไฟหรือแบตเตอรี่นั่นเอง(ส่วนใหญ่แล้วจะอยู่บนตัววาล์ว) ให้เรานำไฟจากแบตเตอรี่ที่มีแรงดันไฟต่ำกว่าแรงดันไฟจริงที่วาล์วสามารถทำงานได้ หรือเป็นไปได้ ให้ใช้ไฟจากหม้อแปลงเล็กๆ ที่กระแสไฟไม่มาก มาทดสอบแทนได้(อย่างหลังนี่จะแนะนำมากกว่าแบบแบตเตอรี่ค่ะ) เช่น ถ้าเป็นวาล์วแบบ 12VDC เราควรใช้ไฟ 6VDC เพื่อทดสอบการทำงานของขดลวด เพราะว่าแรงดันไฟต่ำนี้ จะยังสามารถกระตุ้นให้คอยล์ของวาล์วนั้นทำงานได้ และจะไม่ส่งผลกระทบต่อ ขดลวดไฟฟ้าของวาล์ว ในกรณีที่มีการทดสอบผิดพลาดอีกด้วยค่ะ

หม้อแปลง 12v สำหรับจ่ายไฟให้คอยล์

* ตัวอย่างหม้อแปลงไฟฟ้าแบบ 220VAC to 12VDC

ในกรณีที่ต่อแหล่งจ่ายไฟแรงดันต่ำดังกล่าวเข้ากับคอยล์ของวาล์วแล้ว ให้เราสังเกตุวาล์วว่ามีเสียง ต่อกแต่กๆ(เสียงการเปิด-ปิดของวาล์ว) หรือไม่ ถ้าไม่มีเสียงใดๆเลย เป็นไปได้ว่า คอยล์ของวาล์วตัวดังกล่าวนั้นอาจจะชำรุดเสียหายแล้ว ให้ท่านเปลี่ยนตัวใหม่ได้เลยค่ะ

ตัวอย่างวาล์วไฟฟ้าแบบใช้คอยล์ 220vac

* รูปตัวอย่างวาล์วไฟฟ้าแบบใช้คอยล์ 220VAC

- ต่อมาก็คือ ถ้าเป็นวาล์วแบบใช้ไฟ กระแสสลับ 220VAC เราสามารถที่จะใช้ไฟฟ้าที่อยู่ภายในบ้านของเราทดสอบได้เลย แต่สิ่งสำคัญก็คือ ผู้ทดสอบจะต้องมีความระมัดระวังด้วยน่ะค่ะ เพราะกระแสไฟฟ้าดังกล่าว สามารถทำอันตรายให้กับทั้งผู้ทดสอบและวาล์วได้ ถ้าหากเป็นไปได้ เราไม่ควรที่จะต่อแหล่งจ่ายไฟดังกล่าวเข้ากับคอยล์ของวาล์วโดยตรง กล่าวคือ เราจำเป็นที่จะต้องหา ฟิวส์ หลอดไฟ หรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่ช่วยในการตัดไฟให้เราโดยอัตโนมัติ(หากมีข้อผิดพลาดหรือลัดวงจร) ยกตัวอย่างเช่น เบรคเกอร์ตัดไฟ เพราะอุปกรณ์เหล่านี้ จะช่วยป้องกันไม่ให้กระแสไฟฟ้าสลับ ทำอันตรายหรือสร้างความเสียหาย ให้กับอุปกรณ์อื่นๆ ที่อยู่ในชุดทดสอบ หรือผู้ทดสอบนั่นเองค่ะ

สุดท้ายนี้ หากท่านใดสนใจการทดสอบหรือเช็ควาล์วแบบไฟฟ้า และต้องการตัวอย่างการเช็คคอยล์วาล์ว(ด้วยมัลติมิเตอร์) ก็สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่วิดีโอด้านล่างนี้ค่ะ:

อยากจะฝากส่งท้าย

เอาล่ะค่ะ ทั้งหมดนี้เป็นเพียงขั้นตอนอย่างง่าย ที่จะทำให้ผู้ที่ใช้งานวาล์วไฟฟ้า หันมาให้ความสนใจกับการตรวจเช็คหรือตรวจสอบวาล์ว ทั้งก่อนและหลังการใช้งานจริง เพราะยิ่งถ้าเราดูแลเอาใจใส่เขามากเท่าไหร่ เขาก็จะอยู่กับเราได้ยาวนานขึ้นกว่าเดิมมากขึ้นเท่านั้นค่ะ