CATEGORIES
MENU

โซลินอยด์วาล์วมีประโยชน์มากกว่าที่คิด

ในปัจจุบันนี้ อุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ "ควบคุมการไหลของไหล/ของเหลว" นั้นมีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นก๊อกน้ำ หรือว่าวาล์วน้ำประเภทต่างๆ ก็ล้วนแล้วแต่ทำให้เราสะดวกขึ้นด้วยกันทั้งสิ้น ยิ่งถ้าเป็นวาล์วที่สามารถควบคุมด้วยวงจรไฟฟ้าหรือระบบอัตโนมัติด้วยแล้วล่ะก็ ยิ่งจะทำให้เราสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นเป็นกองเลยล่ะค่ะ คำถามคือ ที่ว่าสบายขึ้นนั้น สบายยังไง?

ให้ท่านลองจินตนาการดูเล่นๆค่ะว่า สมมุติเรามีถังเก็บน้ำที่อยู่หลังบ้าน ที่อาจจะห่างจากตัวบ้านไปสัก 200-300 เมตร แล้วเราต้องการนำน้ำในถัง มาฉีดให้กับสวนหย่อมหรือสนามหญ้าที่อยู่หน้าบ้าน/ข้างบ้านของเรา แล้วเราจะทำอย่างไร โดยทั่วไปเราจะพบว่าส่วนใหญ่จะเดินท่อออกจากถังเก็บน้ำหรือต่อสายส่งน้ำ มาไว้ที่จุดใช้น้ำเลย แล้วติดตั้งก๊อกน้ำไว้เปิดปิดสักตัว เวลาจะรดน้ำให้กับสวนหย่อม เราก็ค่อยเดินไปเปิดหรือปิด ท่านเห็นอะไรมั้ย!! ใช่ค่ะ "การสั่งเปิด-ปิดน้ำ" หรือแม้กระทั่งรดน้ำ "ท่านยังคงต้องทำด้วยตัวเองอยู่"

แต่ถ้าเปลี่ยนมาใช้โซลินอยด์วาล์วในการเปิดปิดน้ำแทนท่านล่ะ มันจะสะดวกขึ้นกว่าเดิมมั้ย ใช่ค่ะ นั่นคือประเด็นหลักของการนำวาล์วประเภทนี้ มาใช้งานเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด เป็นผู้ช่วยตัวน้อยๆที่มีประสิทธิภาพให้กับเรานั่นเอง

ให้วาล์วทำงานแทนเรา แล้วเราก็เอาเวลาไปทำอย่างอื่นที่สำคัญกว่า

สำหรับท่านใดที่เป็นมือใหม่ และยังห่วงเกี่ยวกับ การติดตั้งหรือใช้งานโซลินอยด์วาล์ว ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี อันนี้ต้องบอกก่อนค่ะว่า หมดปัญหาไปได้เลย เพราะสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอะไรเลยค่ะ เราเพียงซื้อรุ่นที่เหมาะสมกับการใช้งาน จากนั้นก็แค่ออกแบบวงจร หรือติดตั้งระบบควบคุมให้กับวาล์วเหล่านั้น(ด้วย Timer/สวิทช์ตั้งเวลา) แล้วเราก็สามารถเริ่มต้นใช้งานระบบอัตโนมัติ ในการควบคุมการทำงานของวาล์วเหล่านี้ให้กับเราได้แล้วล่ะค่ะ

แต่หากท่านใดที่ยังไม่รู้จักกับวาล์วชนิดนี้ว่าคืออะไร ตัวเป็นๆ หน้าตาเป็นยังไงแล้วล่ะก็ เรามาทำความรู้จักกันไปพร้อมๆกันเลยค่ะ

ก่อนอื่น มาทำความเข้าใจกันก่อนว่า โซลินอยด์วาล์วคืออะไร

โซลินอยด์วาล์ว คืออะไร

รูปตัวอย่าง: โซลินอยด์วาล์ว(ทองเหลือง)สำหรับใช้งานทั่วไป

โซลินอยด์วาล์ว เป็นวาล์วควบคุมของไหลอีกประเภทหนึ่ง ที่มีคอล์ยหรือขดลวดไฟฟ้า(บางท่านเรียกคอยล์:Coil)อยู่ภายใน ซึ่งคอยล์ดังกล่าว จะทำหน้าที่รับกระแสไฟฟ้า แล้วมาสร้างเป็นสนามแม่เหล็ก จากนั้นก็นำไปกระตุ้นให้วาล์วหรือ Plunger ที่อยู่ใน solenoid valve ทำการเปิดหรือปิดวาล์ว ซึ่ง การทำงานของโซลินอยด์วาล์ว ก็จะถูกแบ่งออกไปหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับว่าวาล์วดังกล่าวเป็นวาล์วประเภทใด แต่พื้นฐานการทำงานของโซลินอยด์นั้น ค่อนข้างที่จะใกล้เคียงกันมาก กล่าวคือ เพียงแค่เปิดหรือปิดวาล์วเท่านั้นเอง

สถานะการทำงานของโซลินอยด์วาล์ว:

โซลินอยด์วาล์ว การทำงาน

คำว่าสถานะในที่นี้หมายถึง การเปลี่ยนรูปแบบทำงานจากสถานะหนึ่ง ไปยังอีกสถานะหนึ่ง โดยปกติแล้ว สถานะดังกล่าวนี้ จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะด้วยกันคือ NC(ปรกติปิด) และ NO(ปรกติเปิด)

"สถานะปกติปิด หรือ NC" หมายถึง เมื่อเราไม่มีการจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าสู่คอล์ยของวาล์ว วาล์วก็จะทำการปิดไม่ให้ของเหลวที่อยู่ด้านหนึ่ง ไหลไปยังอีกด้านหนึ่งของตัววาล์ว แต่เมื่อเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับคอล์ย โซลินอยด์วาล์วก็จะเริ่มทำงานและเปิดวาล์วดังกล่าวให้ของเหลวไหลผ่านไปได้ หรือที่เรียกกันว่า สถานะเปิด NO นั่นเองค่ะ

"สถานะปกติเปิด หรือ NO" หมายถึง สถานะที่ตรงกันข้ามกับสถานะปกติปิด กล่าวคือ ถ้าเราไม่มีการจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่คอล์ย ของไหลที่อยู่ด้านหนึ่งของวาล์ว(inlet) ก็สามารถที่จะไหลไปอีกด้านหนึ่ง(outlet)ได้ในทันที แต่เมื่อใดที่เรามีการจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าสู่คอล์ย ชุดโซลินอยด์ก็จะทำการปิดวาล์วดังกล่าวเพื่อไม่ให้ของไหล ไหลผ่านไปได้ค่ะ

สำหรับท่านใดที่ต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำงานของโซลินอยด์วาล์ว สามารถชมวิดีโอด้านล่างได้ค่ะ:

ทีนี้เมื่อเราทราบว่า โซลินอยด์วาล์วคืออะไร และมีการทำงานอย่างไรกันไปแล้ว ต่อไปก็จะเป็นการนำไปประยุกต์ใช้งานกันค่ะ โดยตัวอย่างการนำวาล์วมาประยุกต์ใช้งานนั้น ผู้เขียนก็จะขอยกตัวอย่าง การใช้วาล์วควบคุมการเปิดปิดน้ำสำหรับรดน้ำต้นไม้ ในสวนหย่อมในบ้านของเรากันค่ะ (เพื่อให้สอดคล้องกับหัวข้อด้านบน) ง่ายๆ แต่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจอย่างแน่นอน

โซลินอยด์วาล์วที่จะนำมาใช้ในการควบคุมการเปิดปิดน้ำให้กับเรานั้น เราสามารถเลือกใช้วาล์วแบบธรรมดาก็ได้ค่ะ ซึ่งคำว่าธรรมดาในที่นี้ก็หมายถึง แค่การเปิดปิดวาล์วเท่านั้น โดยส่วนใหญ่แล้ววาล์วที่นิยมนำมาใช้ กันอย่างแพร่หลายก็คือ โซลินอยด์วาล์วแบบ 12VDC และ โซลินอยด์วาล์วแบบ 24VDC ซึ่งคำว่า VDC นั้นจะเป็นกระแสไฟฟ้าตรง ไม่มีอันตรายต่อมนุษย์ ซึ่งแรงดันไฟดังกล่าวจะเป็นแรงดันไฟที่ต่ำ เราสามารถที่จะนำวาล์วต่อเข้ากับหม้อแปลง 12VDC หรือ 24VDC ได้เลย แต่ถ้าเป็นวาล์วแบบ 220VAC นี่ต้องใช้กับกระแสไฟฟ้าภายในบ้านของเราค่ะ(หรือต่อเข้ากับอุปกรณ์ที่เรียกว่า Inverter จาก 12vdc เป็น 220vac)

โซลินอยด์วาล์วสำหรับระบบรดน้ำต้นไม้ สวนหย่อม สนามหญ้า และเรือนเพาะชำ โรงเรือนต่างๆ

รูปตัวอย่าง: โซลินอยด์วาล์วสำหรับใช้ต่อเพื่อรดน้ำต้นไม้

จากนั้นเมื่อเราได้ ประเภทของวาล์วและชนิดกระแสไฟฟ้า ที่ตรงตามความต้องการแล้ว อุปกรณ์อีกชุดหนึ่งที่จำเป็นที่จะต้องมีก็คือ ชุดควบคุมด้วยเวลา(Timer), Pressure switch(สวิทช์ควบคุมด้วยแรงดัน) หรือเซ็นเซอร์แบบต่างๆ เช่น เซ็นเซอร์อินฟาเรด เซ็นเซอร์วัดระดับรูปแบบต่างๆ เช่น ความร้อน ระดับน้ำ เป็นต้น เพราะชุดควบคุมดังกล่าว เราสามารถตั้งค่าตามที่เราต้องการได้ เช่นว่า ตั้งเวลาเปิดปิดน้ำ ตั้งให้วาล์วเปิด-ปิดตามแรงดัน หรือเงื่อนไขอื่นๆค่ะ

และส่วนสุดท้ายที่เราจำเป็นที่จะต้องมีก็คือ ชุดสปริงเกอร์รดน้ำต้นไม้ ซึ่งชุดสปริงเกอร์ดังกล่าว จะต้องต่อเข้ากับทางน้ำออกที่ออกจากโซลินอยด์วาล์วแล้วนั่นเอง

ชุดสปริงเกอร์สำหรับต่อร่วมกับโซลินอยด์วาล์ว สำหรังงานรดน้ำต้นไม้ และสวนหย่อม

ทำไมต้องแนะนำโซลินอยด์วาล์ว กับระบบรดน้ำต้นไม้ด้วย?

  1. เพื่อให้ผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจ เกี่ยวกับหลักการทำงานของโซลินอยด์วาล์ว และเห็นภาพได้ง่ายยิ่งขึ้น
  2. มีการนำโซลินอยด์วาล์วไปใช้งานในรูปแบบดังกล่าวเป็นจำนวนมาก และเห็นผลได้ชัดเจน(มนุษย์สบายขึ้นเยอะ) หรืออาจจะเป็นงานรูปแบบอื่นที่คล้ายๆ กันด้วยค่ะ ยกตัวอย่างเช่น ในสวนผลไม้ ในโรงเรือนเพาะชำที่มีขนาดใหญ่ หรือแม้กระทั่งในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
  3. แน่นอนว่าระบบรดน้ำต้นไม้นั้น จะต้องเป็นพื้นที่ที่กว้างและมีขนาดใหญ่อย่างแน่นอน ซึ่งถ้าหากมีขนาดกว้างหรือใหญ่แล้ว การใช้แรงงานมนุษย์เข้ามาเปิดหรือปิด เพื่อจ่ายน้ำรดน้ำต้นไม้ คงจะไม่ค่อยสะดวกเท่าที่ควรค่ะ
  4. การออกแบบระบบควบคุมไม่ยุ่งยากซับซ้อน
  5. มีประสิทธิภาพ และสามารถลดค่าใช้จ่ายให้กับธุรกิจ/องค์กร หรือหน่วยงานท่านได้อย่างมหาศาล
  6. ง่ายต่อการดูแล ซ่อมแซมหรือปรับปรุงระบบจ่ายน้ำอัตโนมัติ
  7. เหมาะสำหรับท่านที่ไม่ค่อยอยู่บ้าน ออกต่างจังหวัดบ่อยๆ แต่ไม่อยากให้สวนหย่อมสุดโปรดต้องมาเหี่ยวเฉา เพราะไม่มีคนดูแลเรื่องรดน้ำ

เห็นไหมล่ะคะ สิ่งเหล่านี้เป็นเพียง ประโยชน์ของการนำโซลินอยด์วาล์วมาประยุกต์ใช้งาน เพียงเล็กๆน้อยๆ เท่านั้น ซึ่งจริงๆแล้ว ยังถือได้ว่ามีอีกหลากหลายรูปแบบมาก ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการควบคุมของเหลวอย่างไรค่ะ

สุดท้ายบทความนี้ ผู้เขียนก็ขอขอบคุณทุกท่านเป็นอย่างมาก ที่เสียสละเวลาอ่านบทความจนจบ ในบทความต่อไปจะเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับ การใช้โซลินอยด์วาล์วกับเครื่องพ่นไฟ ค่ะจะเป็นอย่างไรบ้างนั้น อย่าลืมติดตามกันด้วยนะคะ สำหรับวันนี้ บาย...