CATEGORIES
MENU

เทคนิคการติดตั้งโซลินอยด์วาล์ว แบบง่ายๆใช้งานได้จริง

บางท่านอาจจะยังสงสัยเกี่ยวกับ เทคนิคการติดตั้ง และการต่อใช้งานโซลินอยด์วาล์ว ว่าจริงๆ แล้วโดยทั่วไปเราควรจะติดตั้งและต่ออย่างไรให้ถูกวิธี และมีประสิทธิภาพสูงเหมือนมืออาชีพ(ส่วนใหญ่เขาทำกัน) เอาเป็นว่าให้ท่านเสียเวลาอ่านบทความนี้กันสักนิด แล้วท่านจะร้องอ๋อ ขึ้นมาทันที ใช่แล้วค่ะ! มันไม่ยากอย่างที่เราคิดเลย

จริงๆแล้ว โซลินอยด์วาล์วประสิทธิภาพสูง ที่วางขายทั่วไป ส่วนใหญ่ก็จะมีคู่มือการติดตั้งแบบพื้นฐานให้เราได้ศึกษากันอยู่แล้ว แต่ก็นั่นแหล่ะค่ะ บางครั้งคู่มือเหล่านั้นเราอาจจะได้จากผู้ให้บริการบ้างหรือไม่ได้บ้าง คนที่ได้ก็โชคดีไป แต่สำหรับคนที่ไม่ได้ไม่เป็นไรค่ะ ถ้าท่านเจอกับบทความนี้ แสดงว่าท่านมาถูกทาง ถูกที่ และถูกเวลาแล้วค่ะ ^^

ก่อนลงมือติดตั้งวาล์ว เราต้องตรวจสอบอะไรกันบ้าง?

กรณีที่ท่านใดมีหรือได้คู่มือมาด้วย ให้ท่านอ่านคู่มือของวาล์วรุ่นนั้นให้ดีเสียก่อนว่า มันมีอะไรบ้างที่เราจะต้องรู้จักบ้าง ถามว่าทำไมเราจะต้องรู้จักกับสิ่งที่มากับวาล์วด้วย คำตอบก็คือ สิ่งที่มากับวาล์วหรือคุณสมบัติต่างๆ ของวาล์ว มันจะช่วยให้เราเรียกประสิทธิภาพจากการทำงานของมันได้อย่างเต็มที่นั่นเอง ซึ่งแม้แต่มืออาชีพยังต้องอ่านค่ะ ดังนั้นแนะนำว่าให้ท่านยอมเสียเวลาสัก 5-10 นาทีเปิดดูสักนิด แล้วชีวิตของวาล์วของท่านจะอยู่กับเราได้ไปอีกนานเลย

ต่อมาเมื่อตรวจสอบวาล์วในขั้นเบื้องต้นกันเสร็จแล้ว ให้เราดูคุณสมบัติของวาล์วที่ลงลึกไปอีกสักนิด คุณสมบัติที่ว่าก็คือ ค่าต่างๆ หรือข้อมูลต่างๆ หรืออาจจะเรียกว่าองค์ประกอบของวาล์ว ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งถ้าในต่างประเทศเขาจะเรียกกันกว่า Label หรือ Properties ของวาล์ว หากท่านใดยังงงอยู่ ผู้เขียนจะยกตัวอย่างให้ดูดังในรูปด้านล่างนี้ค่ะ

คุณสมบัติของโซลินอยด์วาล์ว

ขอบคุณรูปภาพจาก tameson.com

โดยในรูปด้านซ้ายจะเป็น ข้อมูลของคอยล์ไฟฟ้าของวาล์ว ตัวนั้นๆ และรูปด้านขวาจะเป็น คุณสมบัติของวาล์วโซลินอยด์ ค่ะ บางท่านจะเห็นว่าเป็นตัวอังกฤษหมดเลย ไม่ต้องตกใจค่ะ แอดมินอธิบายแต่ละตัวไว้ที่ด้านล่างหมดแล้ว ไปอ่านต่อกันเลย

ข้อมูลของคอลย์ไฟฟ้าก็จะมีด้วยกันเช่น:

  • Voltage & Frequency แรงดันและความถี่ไฟฟ้า หรือประเภทของไฟฟ้าที่คอยล์ทำงานได้ ส่วนใหญ่จะเขียนระบุไว้เลยว่าเป็นแบบ VDC, VAC
  • รูปแบบการป้องกันของรั่วไหลของสิ่งสกปรกเข้าคอยล์ (Ingress Protection Grade)
  • รหัสของคอยล์รุ่นนั้นๆ (Coil Code)
  • CE-Mark คือสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าสินค้าได้รองรับจาก EU เป็นตัวการันตีว่าปลอดภัยอย่างแน่นอน

และต่อมาก็จะเป็นในส่วนของข้อมูลพื้นฐานของโซลินอยด์วาล์วกัน ซึ่งจะมีด้วยกันดังนี้:

  • Valve code: คือรหัสหรือรุ่นของโซลินอยด์วาล์วตัวนั้นๆ นั่นเอง
  • Position: คือรูปแบบการทำงานของโซลินอยด์วาล์ว จากในรูปด้านขวาคือ จะเป็นวาล์วแบบ NC หรือ Normally Closed ค่ะ
  • Pipe thread: ในที่นี้จะเป็นขนาดของท่อที่สามารถนำมาต่อใช้งานกับโซลินอยด์วาล์วตัวนั้นๆ ได้ เช่น 1/2" หรือเป็นโซลินอยด์วาล์วแบบ 4 หุนนั่นเอง
  • Seal material: ในที่นี้จะเป็นวัสดุที่นำมาผลิตซีลของวาล์ว
  • Orifice diameter: คือขนาดของรู orifice
  • Operation pressure: คือแรงดันที่วาล์วสามารถทำงานได้ปรกติ

เอาล่ะค่ะ ทีนี้เราก็รู้จักกับข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้กันไปแล้ว ขั้นตอนต่อไปเราก็จะมาด้วยกันต่อในเรื่องของระบบท่อที่เราจะใช้งานกันค่ะ

ระบบท่อส่งน้ำ ใส่ใจสักนิดเพื่อชีวิตของวาล์วที่ยาวนาน

จริงๆ แล้ว ระบบท่อที่เราจะนำเอาโซลินอยด์วาล์วไปติดตั้งนั้น ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้งานของเราเป็นหลัก นั่นหมายความว่า ระบบท่อของแต่ละงานจะไม่เหมือนกันอย่างแน่นอน บางระบบมีความซับซ้อน แต่บางระบบก็ดูแสนจะง่ายดาย แต่สุดท้ายแล้ว สิ่งที่เราจะต้องคำนึงถึงในเรื่องของท่อก็คือ โซลินอยด์วาล์วของเราสามารถนำไปติดตั้งกับระบบท่อที่ออกแบบหรือใช้งานอยู่เดิมได้หรือไม่นั่นเองค่ะ เช่น ท่อเดิมมีขนาด 1/2 นิ้ว หรือเป็นท่อ 4 หุน เราก็จะต้องนำโซลินอยด์วาล์วที่มีขนาด 4 หุนไปต่อเข้านั่นเอง

เทคนิคการตรวจสอบความปลอดภัยและอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการต่อวาล์วเข้ากับระบบท่อส่งน้ำ:

  • ในการนำวาล์วโซลินอยด์เข้าไปต่อเข้ากับท่อในระบบ สิ่งสำคัญคือ ท่อในระบบของเรา จะต้องไม่มีแรงดันสะสมหรือลงเหลือ ไม่เช่นนั้นอาจจะทำให้ผู้ต่อวาล์วเข้ากับท่อมีอันตรายได้ค่ะ
  • ท่อของระบบจะต้องไม่มีสิ่งสกปรก หรือสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ที่อาจจะเข้าไปอุดตันในตัวของวาล์ว เช่น ฝุ่น เศษใบไม้ คราบโคลน ตะกรัน สนิมโลหะ เป็นต้น ถ้าหากเราพบว่าท่อของเรายังไม่สะอาดพอ ให้เราทำความสะอาดท่อก่อนนำวาล์วไปติดตั้งทุกครั้งค่ะ
  • ถ้าหากท่านไม่ต้องการเสียเวลาในการดูแลบำรุงรักษาในเรื่องของความสะอาดของวาล์วในขณะที่ใช้งาน ท่านสามารถที่จะนำอุปกรณ์สำหรับกรองน้ำมาติดตั้งเข้ากับท่อก่อนที่จะดึงตัวโซลินอยด์วาล์วได้ด้วยเช่นกันค่ะ (ส่วนใหญ่จะต่อทางด้านขาเข้าหรือ Inlet ของวาล์ว)
  • ขนาดของท่อที่ต่อกับโซลินอยด์วาล์ว จะต้องมีความเหมาะสม ไม่เล็กหรือใหญ่กว่าขนาดของรูวาล์วจนเกินไป ซึ่งถ้าหากขนาดของท่อไม่สัมพันธ์กันแล้ว ก็อาจจะทำให้วาล์วทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพได้ค่ะ

ตำแหน่งของโซลินอยด์วาล์วที่เหมาะสม ควรจะเป็นอย่างไร?

เชื่อว่าคงมีหลายท่านสงสัยว่า แล้วเราควรที่จะติดตั้งโซลินอยด์วาล์วไว้ตรงไหนดีของระบบ เอาเป็นว่าลองอ่านเทคนิดเล็กๆ น้อยๆ ด้านล่างนี้น่ะค่ะ เผื่อว่าท่านจะได้ไอเดียเพิ่มเติมก็ได้:

ตัวอย่างการติดตั้งโซลินอยด์วาล์ว

  • ตำแหน่งหรือพื้นที่ที่ติดตั้งวาล์ว จะต้องไม่ร้อน หรือเสี่ยงกับของไหลที่อาจจะรั่วซึมเข้าคอยล์ของวาล์ว เช่นที่โล่งแจ้ง เป็นต้น ถามว่าทำไมต้องเลี่ยงพื้นที่เหล่านี้ ท่านลองคิดดูค่ะว่า โซลินอยด์วาล์วนั้นจะมีคอยล์ทำงานร่วมอยู่ด้วย มีสายไฟ ซีล ทำงานแบบอาศัยสนามแม่เหล็กไฟฟ้าไปเหนี่ยวนำให้แผ่น plunger ทำงาน ดังนั้นถ้าอยากให้อุปกรณ์เหล่านี้อยู่ได้นานๆ แนะนำให้ติดตั้งวาล์วในที่ร่ม อากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่สะสมความร้อนหรือความชื้นจนเกินไป สามารถบำรุงดูแลรักษาได้ง่าย น่าจะดีกว่าค่ะ
  • ในขณะติดตั้งวาล์วโซลินอยด์ ให้ท่านตรวจสอบ fluid direction ให้ถูกต้องด้วยว่าขาเข้าของน้ำ และขาออกของน้ำนั้น ไปในทิศทางที่ถูกต้องหรือไม่ ถ้าเป็นมือใหม่ก็อาจจะดูได้ที่ลูกศรที่อยู่บนตัวของวาล์วได้เลยค่ะ
  • อย่าลืมตรวจสอบท่อทั้งสองด้านที่ต่อเข้ากับโซลินอยด์วาล์วด้วยนะค่ะ ซึ่งท่อที่ว่านี้จะต้องมีความแน่นหนา มั่นคงและแข็งแรง ไม่หลวม ไม่สั่นคลอน และช่องเชื่อมต่อที่เป็นเกลียวนั้น ก็ให้ท่านใช้ประแจขันให้แน่นและกระชับพอประมาณ
  • เพื่อประสิทธิภาพอันสูงสุดในการทำงานของวาล์ว ให้ท่านติดตั้งวาล์วให้อยู่ในลักษณะ ตั้งฉากกับพื้นหรือเป็นแนวดิ่ง 90 องศา (ดูรูปภาพด้านบนซ้ายมือ) ซึ่งเทคนิคนี้จะเป็นการลดความเสี่ยงในการสะสมของสิ่งสกปรกภายในตัวของโซลินอยด์วาล์วค่ะ

รู้จักกับคอยล์ของโซลินอยด์วาล์วกันสักนิด เพื่อความปลอดภัย

ประกอบชิ้นส่วนคอยล์ของโซลินอยด์วาล์ว

สำหรับคอยล์ของโซลินอยด์วาล์วไฟฟ้า แอดมินก็มีเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งสิ่งที่เราจะต้องคำนึงถึงหลักๆ ก็จะมีด้วยกันดังนี้:

  • ห้ามต่อแหล่งจ่ายไฟเข้ากับคอยล์ ในกรณีที่คอยล์ไม่ได้ถูกสวมหรือถูกติดตั้งอยู่กับตัวโซลินอยด์ เพราะอาจจะทำให้คอยล์ไฟฟ้าไหม้หรือชำรุดเสียหายได้
  • ในขั้นตอนการประกอบคอยล์ไฟฟ้าเข้ากับโซลินอยด์วาล์ว ให้ท่านทำตามคู่มืออย่างเคร่งครัด ขันน็อตทุกตัวให้แน่น เพื่อป้องกันการหลวมหรือสั่นคลอนในช่วงที่โซลินอยด์วาล์วทำงานอยู่ โดยแรงสำหรับขันน็อตนี้จะอยู่ที่ประมาณ 5 นิวตันเมตรค่ะ

ตัวอย่างการต่อคอยล์ไฟฟ้าของโซลินอยด์วาล์ว:

ขั้นตอนและเทคนิคการต่อสายไฟให้กับโซลินอยด์วาล์ว

การต่อสายไฟเข้ากับโซลินอยด์วาล์ว

ในกรณีที่คอยล์ไฟฟ้าของเราเป็นขดลวดที่มีขั้วต่อแบบ DIN-A หรือ DIN-B ให้ท่านทำตามขั้นตอนดังนี้ค่ะ:

  1. ใช้สายเคเบิลหรือสายไฟแบบกลมเส้นเดียว เชื่อมต่อเข้ากับเทอร์มินอล (1) และ (2) เข้ากับแหล่งจ่ายไฟ ขั้วไม่สำคัญ(กรณีคอยล์แบบ VAC)
  2. อย่าลืมต่อสายดินให้ถูกต้อง และห้ามใช้ท่อหรือตัววาล์วเป็นสายดิน
  3. ต่อขั้วต่อกับขดลวด ตรวจดูให้แน่ใจว่าไม่มีขดลวดชุบระหว่างขดลวดกับขั้วต่อ
  4. จากนั้นให้ทำการขันน็อตโดยใช้แรงบิด 0.5 นิวตัน
  5. ให้วางสายไฟฟ้าให้อยู่ในลักษณะโค้ง ไม่ตึงหรือหย่อนจนเกินไป และสามารถให้ไอน้ำหรือน้ำ (ควบแน่น) สามารถหยดลงพื้นได้ โดยป้องกันไม่ให้หยดน้ำเหล่านี้เข้าไปตามสายไฟฟ้าที่ต่อเข้ากับช่องเสียบนั่นเองค่ะ(รูปบนด้านขวามือสุด)
  6. ในกรณีที่เป็นคอยล์ไฟฟ้าแบบธรรมดา เช่น คอยล์ไฟฟ้าของ โซลินอยด์วาล์วทองเหลือง 2 ทาง(2/2 ทาง) ท่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ การต่อวาล์วโซลินอยด์เข้ากับไฟกระแสตรง VDC ค่ะ

เข้าสู่ขั้นตอนทดสอบการทำงานของวาล์วโซลินอยด์

หากท่านติดตั้งโซลินอยด์วาล์วเข้ากับระบบท่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อมาก็จะเป็นขั้นตอนการทดสอบการทำงานของวาล์วก่อนใช้งานจริงค่ะ โดยในขั้นตอนการทดสอบนี้ เราก็จะมีสิ่งที่ต้องคำนึงหรือสังเกตุด้วย ว่าเราติดตั้งวาล์วได้ถูกต้องและถูกวิธีหรือไม่ โดยหลักๆ แล้วก็จะมีด้วยกันดังนี้:

1) ทำการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับโซลินอยด์วาล์ว

2) จากนั้นให้สังเกตุว่าคอยล์วาล์วทำงานปรกติหรือไม่ และโซลินอยด์วาล์วทำการเปิด-ปิดน้ำได้ปรกติหรือไม่ ถ้าพบสิ่งผิดปรกติให้ท่านทำการปิดการจ่ายกระแสไฟฟ้าทันที และหาข้อผิดพลาดใหม่อีกครั้งว่าเกิดจากสาเหตุใด

3) ถ้าหากคอยล์ทำงานปรกติ และวาล์วสั่งเปิด-ปิดน้ำได้ปรกติ แต่เมื่อวาล์วทำงานไปสักระยะ คอยล์ไฟฟ้าจะมีความร้อนสะสมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งสิ่งผิดปรกติอาจจะเกิดได้จากหลายสาเหตุ ยกตัวอย่างเช่น

  1. มีสิ่งสกปรกเข้าไปอุดตันในตัวของโซลินอยด์วาล์ว เช่น เศษทราย ดิน หรือใบไม้ชิ้นเล็กๆ เป็นต้น
  2. ติดตั้งวาล์วผิดทิศทาง(Flow Direction) ซึ่งในบางครั้งเราจะพบว่า โซลินอยด์วาล์วนั้นได้ถูกติดตั้งไว้ผิดด้านหรือทิศทางการไหลของน้ำสลับกัน
  3. แรงดันของของไหลทั้งสองด้านของวาล์วแตกต่างกันมาก ยกตัวอย่างเช่น แรงดันของไหลด้านออกสูงกว่าแรงดันด้านขาเข้า เป็นต้น ซึ่งโดยทั่วไปแรงดันขาออกจะต้องน้อยกว่าขาเข้าประมาณ 0.5 bar เป็นอย่างน้อยค่ะ
  4. ท่อมีขนาดเล็กเกินไป ทำให้ของไหลหรือน้ำไหลเร็วยิ่งขึ้น กรณีนี้ให้ท่านเพิ่มขนาดของท่อให้ใหญ่ขึ้นเล็กน้อย หรือติดตั้งชุดลดความดันของท่อในระบบ แล้วทำการทดสอบใหม่อีกครั้ง
  5. ใช้โซลินอยด์วาล์วที่มีคอยล์ไฟฟ้าที่มีเวลาตอบสนองนานขึ้น ซึ่งจะสามารถช่วยลดความดันชั่วคราวได้

สรุปส่งท้ายเนื้อหา

เนื้อหาทั้งหมดนี้เป็นเพียงการติดตั้งโซลินอยด์วาล์วแบบที่สามารถเห็นได้ทั่วไปเท่านั้น ซึ่งผู้เขียนเองคิดว่าน่าจะมีประโยชน์กับผู้ที่อยากลองติดตั้งวาล์วเพื่อใช้งานดูเอง ซึ่งดูแล้วก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องยากใช่หรือเปล่าค่ะ เอาเป็นว่าไม่เกินฝีมือเราแน่นอนค่ะ ในโอกาสต่อไปผู้เขียนจะมาลงเนื้อหาเกี่ยวกับอะไรนั้น อย่าลืมติดตามกันด้วยน่ะค่ะ วันนี้ขอตัวตามระเบียบค่ะ บาย...