CATEGORIES
MENU

การติดตั้งชุดกรองลมแบบง่ายๆ สไตล์มืออาชีพ

การติดตั้งชุดกรองลม ถือได้ว่าเป็นอีกงานหนึ่งที่สร้างความหนักใจให้กับมือใหม่ทั้งหลาย ซึ่งจะบอกว่าเป็นงานที่ยากก็ไม่ใช่ หรือง่ายเกินไปก็ไม่เชิงค่ะ ทั้งนั้นทั้งนี้ความยากง่ายของการติดตั้งชุดกรองนั้น ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น ปัจจัยที่ผู้เขียนอยากนำมาเล่าให้กันฟังในวันนี้ค่ะ

ปัจจัยที่สำคัญในการติดตั้งชุดกรองลม

  1. ประสบการณ์ของผู้ใช้งานชุดกรอง อันนี้หมายถึงว่า ถ้าท่านเพิ่งเริ่มใช้อุปกรณ์ดังกล่าวเป็นครั้งแรก เป็นปรกติที่ท่านจะต้องเจอกับความซับซ้อนอย่างแน่นอน
  2. ท่านมี คู่มือที่ช่วยในการติดตั้งชุดกรอง หรือไม่ ถ้ามีมันก็จะช่วยให้ท่านติดตั้ง หรือบำรุงรักษาได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยสามารถเปิดและศึกษาได้ตามขั้นตอนในคู่มือของอุปกรณ์นั้นๆได้เลย(ชุดกรองส่วนใหญ่จะมีคู่มือมาให้ด้วย)
  3. สภาวะแวดล้อมสำหรับติดตั้งชุดกรอง จะต้องไม่เสี่ยงทั้งต่อมนุษย์ และอายุการใช้งานของอุปกรณ์(เช่นสารเคมี หรืออุณหภูมิที่ต่ำ/สูงจนเกินไป) และต้องเป็นพื้นที่ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายอีกด้วย(สำหรับติดตั้งและเข้าบำรุงรักษา)
  4. ชุดเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับติดตั้งอุปกรณ์(เครื่องมือช่างทั่วไป) เช่น คีม ประแจ ไขควบ คัตเตอร์ ถุงมือ และเครื่องมืออื่นๆสำหรับป้องกันการบาดเจ็บของ Engineer ทั่วไป(หมวก, รองเท้า)
  5. ออปชั่นเสริม ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการติดตั้งอุปกรณ์ เช่น มือจับ แขนจับ หรืออุปกรณ์พวก Bracket ที่มากับชุดกรองรุ่นนั้นๆ
  6. คำแนะนำหรือข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้ให้บริการ/ผู้ขายชุดกรอง อันนี้เป็นสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่หลายคนมองข้ามไป เนื่องจากว่าความจริงแล้วผู้ให้บริการส่วนใหญ่นั้นจะมีประสบการณ์และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอุปกรณ์มากกว่าผู้ที่นำไปใช้งานทั่วไปอย่างแน่นอน หากเป็นไปได้แนะนำให้ท่านลองสอบถามข้อมูลเหล่านี้ว่ามีให้ท่านด้วยหรือไม่

การติดตั้งชุดกรองลม

เอาล่ะค่ะ เมื่อเรารู้จักกับปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เรา ติดตั้งชุดกรองปรับคุณภาพลม ได้แบบง่ายๆไปแล้ว ที่นี้เราก็จะมาย้อนถามตัวเองว่า ที่กล่าวไปข้างต้นนั้น ท่านมีข้อใดข้อหนึ่งแล้วหรือยัง? ถ้าหากว่าท่านมีหลายๆข้อแล้ว โอกาสที่ท่านจะสามารถติดตั้งชุดกรองได้แบบง่ายดายนั้น ถือได้ว่ามีมากยิ่งขึ้นนั่นเองค่ะ

การติดตั้งชุดกรองปรับคุณภาพลม ไม่ได้ยากเสมอไป

สำหรับมือใหม่ หรือผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นใช้งาน ชุดกรอง ปรับคุณภาพลม เป็นครั้งแรก ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องกังวลกับปัญหาดังกล่าวค่ะ เพราะจริงๆแล้ว ขั้นตอนการติดตั้งชุดกรอง ประเภทดังกล่าว ไม่ได้ถือว่าเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยากอะไรมากมายเลย เพียงแค่ท่านทำตามขั้นตอนดังที่จะกล่าวต่อไปนี้เท่านั้น ท่านก็จะสามารถ ติดตั้งชุดกรองได้เหมือนมืออาชีพ แล้วล่ะค่ะ

ขั้นตอนการติดตั้งชุดกรองลม

*ตัวอย่าง ชุดกรองยี่ห้อแอร์แทค

1. ก่อนอื่นให้เราตรวจสอบชุดกรองของเราก่อนว่า ภายนอกและภายในของอุปกรณ์นั้นมีความสะอาดเพียงพอหรือไม่ คำว่าสะอาดในที่นี้หมายถึงว่า ชุดกรองปรับคุณภาพลมอัดของเราจะต้องไม่มีน้ำ สารเคมี หรือฝุ่นเกาะติดอยู่บนตัวของอุปกรณ์ ทั้งภายนอกและภายใน ตลอดจนตามท่อต่างๆของตัวกรองด้วย

2. ให้ท่านตรวจสอบแรงดันในช่วงปกติที่ชุดกรองรุ่นนั้นๆ สามารถทำงานได้ (Pressure Range) เสียก่อนว่า แรงดันนี้มีความสอดคล้องกันระหว่างตัวกรองลมและระบบของท่านหรือไม่ ซึ่งปรกติค่าแรงดันนี้ ท่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากคู่มือของชุดกรองลมรายการนั้นๆ

3. ก่อนติดตั้งชุดกรองปรับคุณภาพลมเข้ากับอุปกรณ์ตัวอื่น ให้ท่านสังเกต สัญลักษณ์/ทิศทางการไหลของอากาศ ที่ติดอยู่บนชุดกรองลม ซึ่งปรกติแล้วทิศทางดังกล่าวจะเป็นลูกศรชี้ไปทางด้านขวามือเสมอ แต่ถ้าหากท่านไม่มั่นใจ ท่านก็สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากคู่มือได้เช่นกัน

ทิศทางการไหลของอากาศในชุดกรองลมทั่วไป

*ตัวอย่าง ทิศทางการไหลของอากาศของชุดกรอง(Air Flow)

4. รูหรือช่องที่ใช้สำหรับต่ออากาศเข้าชุดกรองนั้น ส่วนใหญ่จะเขียนหรือระบุในคู่มือว่า "IN" (หรือ Air Inlet) ส่วนรูที่ใช้จ่ายอากาศออกจากตัวกรองลมนั้นจะเขียนว่า "OUT" (หรือ Air Outlet)

5. หากเป็น ชุดกรองลมดักน้ำแบบ F.R.L ที่มีชุดกรอง+ชุดปรับแรงดัน+ชุดจ่ายน้ำมันหล่อลื่นในตัว ให้ท่านตรวจสอบก่อนว่าทั้ง 3 ชุดนี้ ถูกประกอบหรือต่อเข้าด้วยกันแล้วหรือยัง อีกทั้งจุดเชื่อมต่อของอุปกรณ์แต่ละตัวควรที่จะมีปะเก็นหรือซีล/โอริง(ในบางรุ่น) เป็นตัวเพิ่มความแข็งแรงให้จุดเชื่อมต่อด้วย และจุดเชื่อมต่อที่เป็นเกลียวระหว่างอุปกรณ์จะต้องขันให้แน่น ไม่ตึงหรือไม่หลวมจนเกินไป สุดท้ายที่ขาดไม่ได้คือ จะต้องตรวจสอบแนวลูกศร หรือทิศทางการไหลของอากาศ ว่าชี้ไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ (ส่วนใหญ่จะชี้ไปทางด้านขวามือ)

ตัวอย่างการประกอบชุดกรองลมดักน้ำ F.R.L

*ตัวอย่าง การประกอบชุดกรองแบบดักน้ำเข้าด้วยกัน

6. ถ้าหากชุดกรองลมที่ท่านซื้อมา มีชุดหรืออุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการติดตั้ง ยกตัวอย่างเช่น มือจับ หรือแผ่นที่ช่วยยึดกับผนัง ท่านจะต้องตรวจสอบด้วยว่า อุปกรณ์ดังกล่าวนี้ มีความจำเป็นที่จะต้องติดตั้งก่อนหรือไม่ ถ้ามีความจำเป็น ให้ท่านติดตั้งอุปกรณ์เสริมนี้เข้ากับผนังหรือพื้นที่ที่ต้องการใช้งานเสียก่อน

อุปกรณ์เสริมสำหรับติดตั้งชุดกรองลม

*ตัวอย่าง อุปกรณ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการติดตั้งชุดกรอง(ฺBracket)

7. ทำการ ติดตั้งชุดกรองเข้ากับอุปกรณ์เสริม กรณีที่ จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์นั้น เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งาน โดยอุปกรณ์เสริมจะมีหลายประเภทด้วยกัน เช่น ขายึดติดกับผนัง แผ่นช่วยติดตั้งเพื่อเพิ่มความแน่นให้กับอุปกรณ์ เป็นต้น

8. จากนั้นหากมีท่อจ่ายลมหรือวาล์วต่างๆ ที่อยู่ระหว่างชุดกรอง และเครื่องมือ/อุปกรณ์ที่ใช้แรงดันลมอัด เช่น กระบอกลม หรือปืนลม ให้ท่านต่อท่อดังกล่าวเข้ากับชุดกรองของเราได้เลย จากนั้นให้ดูจุดเชื่อมต่อระหว่างท่อกับชุดกรองของเรา ถ้าหากเป็นลักษณะเกลียว ให้ท่านตรวจสอบจุดเชื่อมต่อดังกล่าวด้วยว่า ถูกขันไว้อย่างแน่นหนาแล้วหรือไม่

9. ตรวจสอบจุดเชื่อมต่อภายในระบบทั้งหมด โดยรอยต่อ/จุดเชื่อมต่อแต่ละจุด จะต้องไม่ให้อากาศหรือลมอัดในระบบสามารถรั่วไหลออกได้

10. ทดสอบจ่ายลมอัดเข้าระบบผ่านชุดกรองของท่าน (โดยเริ่มจากแรงดันลมอัดน้อยสุด ไปหาแรงดันที่ชุดกรองรุ่นนั้นสามารถทำงานได้อย่างปกติ) จากนั้นให้ตรวจสอบจุดเชื่อมต่อต่างๆ ว่ามีอากาศรั่วไหลออกมาหรือไม่

11. ตรวจสอบ การทำงานของชุดกรองปรับคุณภาพลม ของเรา ว่าทำงานได้อย่างปกติหรือไม่ (Pre-Testing)

สรุปสั้นๆเกี่ยวกับเนื้อหานี้

สุดท้าย เพื่อประสิทธิภาพและความสะดวกใน การติดตั้งชุดกรองลมเพื่อใช้งาน ให้ท่านศึกษาขั้นตอนและข้อมูลอื่นๆ ที่จำเป็นจากคู่มือ หรือคำแนะนำจากผู้ให้บริการก่อนลงมือติดตั้งทุกครั้ง เพราะถ้าหากว่าท่านทำตามขั้นตอนเหล่านี้อย่างเคร่งครัดแล้ว ท่านก็จะทราบว่า จริงๆ แล้ว การติดตั้งชุดกรองปรับคุณภาพลม นั้นไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรเลยค่ะ ท่านเองก็ทำได้