CATEGORIES
MENU

การเลือกซื้อชุดกรองลม ควรเลือกอย่างไร

เชื่อว่าหลายท่านคงจะรู้จักกับชุดกรองลมกันดีอยู่แล้ว ซึ่งข้อดีของชุดกรองลมที่หลายท่านรู้จักกันดีก็คือ ทำให้อากาศหรือลมอัดแรงดันสูงที่จะนำไปใช้ในระบบนิวเมติกของเรานั้น มีความสะอาดและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

เราสามารถเรียกชื่อ ชุดกรองลม ในชื่ออื่นๆได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ชุดปรับคุณภาพลมอัด, ชุดปรับปรุงคุณภาพลม, ชุดอากาศบริการ หรือชุดบริการลมอัดค่ะ แต่สุดท้ายแล้วหน้าที่ของอุปกรณ์เหล่านี้ก็จะเหมือนกับรายละเอียดด้านบนค่ะ นั่นคือทำให้ลมอัดของเรามีความสะอาดปราศจากสิ่งสกปรกต่างๆ

การเลือกซื้อชุดกรองลม

สำหรับท่านใดที่ต้องการ ซื้อชุดกรองลมใหม่ มาใช้ในระบบนิวเมติกส์ของตน แต่ไม่ทราบว่าจะสั่งซื้ออย่างไรดี ในบทความนี้อาจจะมีคำตอบให้ท่านได้บ้างค่ะ หรือถ้าหากท่านใดกำลังมองหา ชุดปรับปรุงคุณภาพลม ชุดปรับแรงดันลม สำหรับปั๊มลม อยู่ล่ะก็ สามารถคลิกเข้าไปอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ค่ะ โดยในเนื้อหาของบทความดังกล่าว ผู้เขียนได้รีวิวเกี่ยวกับ ชุดปรับปรุงคุณภาพลมอัดและชุดปรับแรงดันลม ตลอดจนชุดจ่ายน้ำมันหล่อลื่น ไว้ให้อ่านจำนวน 10 รายการค่ะ

หลายวันก่อนผู้เขียนได้ลงเนื้อหาเกี่ยวกับ ข้อแตกต่างระหว่าง การซื้อชุดกรองลม แบบเป็นชุด กับแยกชุด โดยรายรายละเอียดผู้เขียนก็ได้อธิบายให้เห็นถึงความแตกต่าง ตลอดทั้งข้อดีและข้อเสียของในแต่ละส่วน ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร ท่านใดสนใจอ่านข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถเข้าไปอ่านได้ค่ะ

การเลือกซื้อชุดกรองลมที่เหมาะสม สามารถรีดประสิทธิภาพได้มากกว่าครึ่ง

ท่านทราบหรือไม่ว่า ถ้าหากท่านมีการเลือกชุดกรองลมมาใช้งาน โดยเน้นในเรื่องงานต้องมีความเหมาะสมกับการทำงานของชุดกรองลมเป็นหลักแล้ว ท่านก็จะสามารถรีด ประสิทธิภาพของชุดกรองลม ออกมาได้อย่างเต็มที่ได้ อีกทั้งท่านยังสามารถลดค่าใช้จ่าย และลดการใช้พลังงานในระบบของท่านได้อีกทางหนึ่งด้วย

ลมอัดที่มีความสะอาดสูง ถือว่าเป็นปัจจัยหลักของระบบนิวเมติกเลยก็ว่าได้ และประเด็นที่สำคัญรองลงมาก็คือ ลมอัดนั้นจะต้องเป็นลมอัดที่มีความดันคงที่ และสามารถปรับแต่งความยืดหยุ่นของแรงดันได้อย่างอิสระ และต้องเหมาะสมกับการใช้งานของเราด้วย

ดังนั้นในปัจจุบันนี้ นักออกแบบระบบนิวเมติก จึงหันมาให้ความสำคัญเกี่ยวกับอุปกรณ์ดังกล่าวกันมากขึ้น ด้วยเหตุผลเดียวกันที่ว่า ต้องการทำให้ระบบนิวเมติกส์ทำงานได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพอย่างสูงสุดนั่นเอง

เมื่อเราทราบถึงที่มา-ที่ไป ตลอดจนข้อดีในการใช้ ชุดกรองลมในระบบนิวเมติกส์ กับไปแล้ว ที่นี้เราก็มาลงรายละเอียดเกี่ยวกับ ส่วนต่างๆที่จะทำให้ท่านสามารถ เลือกซื้อชุดกรองลมมาใช้งาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพกันค่ะ

มีขนาดของรูสำหรับเชื่อมต่อที่เหมาะสมกับท่อต่างๆในระบบ

คำว่าขนาดของรูในที่นี้จะหมายถึง รูของชุดกรองทางด้านขาเข้า(Inlet) และทางด้านขาออก(Outlet) ขนาดของรูจะต้องมีความเหมาะสม และสามารถเชื่อมต่อกับท่อในระบบนิวเมติกส์สองเราได้ ดังนั้นก่อนซื้ออุปกรณ์กรองลมนี้มาติดตั้งในระบบนิวเมติกส์ของท่าน ท่านจะต้องตรวจสอบขนาดของรูว่ามีขนาดเท่าใด สามารถนำไปติดตั้งกับท่อที่ท่านได้ออกแบบไว้หรือไม่

ชนิดหรือประเภทของแผ่นกรอง

แผ่นกรองของชุดกรองลม ถือได้ว่าเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่เราจะต้องนำมาเป็นเงื่อนไขในการเลือกซื้อชุดกรองลมเหมือนกัน เพราะถ้าหากว่าชุดกรองที่เราซื้อมานั้นมีแผ่นกรองที่ไม่ได้คุณภาพแล้ว ก็จะเท่ากับว่าชุดกรองนั้นทำงานได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพนั่นเอง

โดยส่วนใหญ่แล้ว แผ่นกรองที่อยู่ในชุดกรองลม จะเป็นวัสดุที่ทำด้วย โพลิเอทิลีนสีขาว สามารถจัดเรียงชิ้นส่วนได้ตั้งแต่ 5-50 ไมโครเมตร

การระบายน้ำออกจากชุดกรองลม

ออปชั่นในการระบายน้ำถือได้ว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่เราจะต้องนำมาพิจารณาด้วยเหมือนกัน เนื่องจากว่าชุดกรองปรับคุณภาพลมรุ่นใดที่มีระบบระบายน้ำแบบอัตโนมัติแล้ว ก็จะทำให้ผู้ใช้งานได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

ชุดกรองปรับคุณภาพลมในปัจจุบัน จะมีทั้งแบบระบายน้ำให้โดยอัตโนมัติ(Auto Drain) กึ่งอัตโนมัติ(Semi) และระบายน้ำด้วยผู้ใช้งานเอง(Manual) และถ้าใครไม่ต้องการที่จะซื้อ ชุดกรองลมแบบระบายน้ำ ได้แบบอัตโนมัติ  เพราะเห็นว่าราคาค่อนข้างแพงเกินไป เราสามารถหาซื้อชุด auto drain มาติดตั้งเพิ่มเติมในระบบนิวเมติกส์ของเรา เพื่อระบายน้ำออกจากระบบนิวเมติกส์ของเราได้เช่นกันค่ะ

ออโต้เดรน สำหรับติดตั้งกับชุดกรองลม

* รูปตัวอย่าง ชุดออโต้เดรนสำหรับระบายน้ำ ในระบบนิวเมติกส์

ชุดกรองปรับคุณภาพลมทั่วไป จะมีท่อหรือรูสำหรับระบายน้ำที่อยู่ด้านล่างของชุด มีฝาปิดที่อยู่ในลักษณะเป็นเกลียว เราสามารถหมุนฝาที่เป็นเกลียวนี้ออก เพื่อใช้ในการระบายน้ำออกจากชุดกรองลม ได้เช่นกัน แต่ถ้าท่านใดไม่อยากเสียเวลาในการระบายน้ำด้วยตนเอง ก็สามารถที่จะซื้อชุดกรองที่มี auto drain ในตัว หรือชุดกรองที่สามารถระบายน้ำได้แบบอัตโนมัติมาใช้งานได้

บอดี้/ตัวถังของชุดกรองลม

ตัวถังของชุดกรองลม

โดยทั่วไป บอดี้ของชุดกรองลม จะผลิตด้วยวัสดุพลาสติกใสที่เป็น โพลีคาร์บอเนต ซึ่งข้อดีของวัสดุชนิดนี้ก็คือ เราสามารถตรวจสอบของเหลว หรือสิ่งปลอมปนที่อยู่ในชุดกรองลมของเราได้ง่าย อีกทั้งวัสดุที่ผลิตจากโพลีคาร์บอเนตนั้น จะมีข้อดีในด้านอื่นๆ อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น ทนแรงดันอากาศและอุณหภูมิได้สูง ตลอดจนสามารถทนต่อการกัดกร่อนของสารเคมีที่มีความรุนแรงได้เป็นอย่างดี

ดังนั้นหากเป็นไปได้ เราควรเลือกซื้อ ชุดกรองที่มีตัวถังหรือ body ที่ผลิตจากวัสดุที่มีคุณภาพ เพราะองค์ประกอบเล็กๆน้อยๆเหล่านี้ จะช่วยทำให้ชุดกรองหรือระบบนิวเมติกส์ของเรา ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพได้เช่นกันค่ะ

วัสดุที่ผลิตได้มาตรฐาน

วัสดุของชุดกรองลม มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน iso

วัสดุที่นำมาผลิตชุดกรองลมที่เป็นมาตรฐาน(ISO) จะช่วยให้ชุดกรองลมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเช่นกัน นั่นหมายถึงว่า ระบบนิวเมติกของเราจะได้ใช้ลมอัดที่มีคุณภาพอย่างแน่นอน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าวัสดุผลิตด้วยวัสดุที่เป็นมาตรฐานแล้ว ลมอัดที่ผ่านการกรองออกไปนั้น ก็จะมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น อุปกรณ์ที่จะนำลมอัดไปใช้งาน(เช่น กระบอกลม หรือ โซลินอยด์วาล์ว) หรือเป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมเส้นทางของลมอัด ยกตัวอย่างเช่น วาล์วควบคุมประเภทต่างๆ ก็จะทำงานได้ง่าย และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น นั่นหมายถึงว่าประสิทธิภาพโดยรวมของระบบนิวเมติกส์ของเรา จะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

สามารถกรองสิ่งสกปรกได้อย่างหมดจรด

ถ้าหากท่านต้องการ ชุดกรองลมที่มีประสิทธิภาพ ในการกรองลมอัดสูงไปใช้ในระบบนิวเมติกส์ หรืออุตสาหกรรมของท่าน ยกตัวอย่างเช่น งานเป่าขึ้นรูป การวาดรูปแบบต่างๆ การบริการทางด้านอาหาร ทางด้านการแพทย์ หรือทันตกรรมตลอดจนงานเกี่ยวกับเภสัชกรรม ท่านอาจจะต้องพิจารณาในเรื่องของ คุณสมบัติของชุดกรองลม เพิ่มขึ้นอีกสักเล็กน้อย เช่นเลือกชุดกรองแบบพิเศษ หรือทำงานเฉพาะทางเป็นต้น โดยชุดกรองแบบ Coalescing filters ถือได้ว่าเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย เนื่องจากว่า ชุดกรองแบบ Coalescing filters นี้จะมีประสิทธิภาพสูงกว่าชุดกรองทั่วไป สามารถขจัดละอองน้ำหรือของเหลวต่างๆที่ปะปนอยู่กับลมอัด(อากาศ) และไฮโดรคาร์บอนออกจากระบบนิวเมติกส์ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ชุดกรองลมประเภท Coalescing filters ยังสามารถกรองสิ่งสกปรก ได้ถึง 99.99 เปอร์เซ็น หรือมากกว่าระหว่าง 0.3 ถึง 0.6 mm ซึ่งในต่างประเทศจะมีการใช้ชุดกรองประเภทนี้กันอย่างแพร่หลายมาก

สามารถดูแลและบำรุงรักษาได้ง่าย

การดูแลและบำรุงรักษา ชุดกรองลม

ชุดกรองลมก็ถือว่าเป็นอีกอุปกรณ์อย่างหนึ่ง ที่จำเป็นที่จะต้องมีการดูแลบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ ยกตัวอย่างเช่น เราจะต้องมีรอบสำหรับตรวจสอบการทำงาน และคุณภาพที่ได้จากชุดกรองอยู่เสมอ ว่าอยู่ในเกณฑ์ต่างๆนั้นได้มาตรฐานหรือไม่ ถ้าประสิทธิภาพจากการทำงานโดยรวมลดลง เราจำเป็นที่จะต้องทำการชุบชีวิตให้ใหม่ชุดกรองค่ะ ยกตัวอย่างเช่น ทำความสะอาดแผ่นกรอง ตรวจสอบแรงดันในช่วงปรกติ หรือเปลี่ยนอุปกรณ์ย่อยที่อยู่ภายในที่เราเห็นว่าหมดประสิทธิภาพแล้ว เรื่องสิ่งเล็กๆน้อยเหล่านี้ เราจะต้องสามารถทำได้ด้วยตนเองโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญ

ตัวปรับแรงดันลมหรือ regulator

ชุดกรองลมดักน้ำแบบ FRL และตัวปรับแรงดันลม

* ตัวอย่างการใช้งานตัวปรับแรงดันลม ควบคู่กับชุดกรองลมในระบบนิวเมติกส์

ถ้าเราเลือก ชุดกรองลม ที่มีตัวปรับแรงดันลม มาให้ในตัว หรือซื้อชุดกรองลมดักน้ำ แบบ F.R.L มาใช้งาน เราจะต้องตรวจสอบแรงดันที่ ตัวปรับแรงดันลม นั้นด้วยว่า สามารถรองรับกับระบบนิวเมติกส์ของเราได้หรือ เช่น แรงดันลมทั้งขาเข้าและขาออก ตลอดจนความยืดหยุ่นในการปรับแรงดันลมของอุปกรณ์ดังกล่าวด้วย

ตัวปรับแรงดันลม ส่วนใหญ่นั้นจะมีลักษณะเป็นลูกสูบ หรือไดอะแฟรม(Diaphragm) ตัวลูกสูบจะมีความคงทนและทนทานสูง แต่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเมื่อเทียบกับแบบไดอะแฟรม ซึ่งตัวไดอะแฟรมนี้จะสามารถรักษาแรงดันได้อย่างสม่ำเสมอและคงที่กว่า นิยมใช้กันมากกับ ตัวปรับลม regulator และชุดกรองในปัจจุบัน

อีกอย่างหนึ่งที่เราจำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์เกี่ยวกับตัวปรับแรงดันลมก็คือ สปริงที่อยู่ภายในตัวปรับแรงดันลม ซึ่งสปริงดังกล่าวนั้นจะเป็นตัวควบคุมแรงดันให้มีความคงที่และสม่ำเสมอ และจะต้องเป็นสปริงที่สามารถปรับแต่งได้อย่างอิสระ และสามารถปรับแรงดันลมให้อยู่ในช่วงที่ระบบนิวเมติกส์ของเราต้องการได้

ความครอบคลุมด้านการใช้งาน

ความครอบคลุมในที่นี้หมายถึง เราควรวางแผนก่อนว่า ระบบนิวเมติกส์หรืองานที่เราจะนำชุดกรองลมไปติดตั้ง มีลักษณะหรือรูปแบบเป็นอย่างไร จำเป็นที่จะต้องใช้ชุดกรองที่มีประสิทธิภาพทางด้านต่างๆมากน้อยเพียงใด หากเป็นระบบเล็กๆ ไม่มีความซับซ้อนมากนัก หรือไม่เน้นในเรื่องคุณภาพของลมอัด เราก็สามารถเลือก ชุดกรองลมแบบธรรมดา ไปใช้แทนแบบ F.R.L หรือรุ่นที่มีประสิทธิภาพดีกว่าได้ แต่ถ้าท่านไม่แน่ใจว่าในอนาคตอาจจะมีการปรับปรุงระบบใหม่เพื่อประสิทธิภาพที่ดีกว่าโดยรวม ท่านก็สามารถซื้อชุดกรองในรุ่นที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อรองรับการใช้งานในอนาคตได้ แน่นอนว่าท่านจะไม่เสียเวลาในการสั่งซื้อชุดใหม่เพื่อใช้ในระบบใหม่ของท่าน แต่ท่านเพียงแค่ปรับแต่งการทำงานหรือการใช้งานชุดกรองใหม่ ให้สามารถทำงานได้กับระบบใหม่ของท่านเพียงเท่านั้นค่ะ ซึ่งจะเป็นการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายได้อีกทางหนึ่งด้วย

สุดท้ายนี้ ถ้าหากท่านต้องการซื้อชุดกรองลมเอาไว้ใช้งานสักตัวหนึ่ง สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ความเหมาะสม และประสิทธิภาพโดยรวมของชุดกรองลมค่ะ ซึ่งประสิทธิภาพดังกล่าวนั้นคือ วัสดุที่ผลิตมีความเป็นมาตรฐาน และถูกนำไปใช้กับงานที่เหมาะสม ตลอดจนการดูแลบำรุงรักษาที่สม่ำเสมอของผู้ใช้งานอีกด้วย