CATEGORIES
MENU

การบํารุงรักษาโซลินอยด์วาล์ว ทำได้ไม่ยากเลย

และแล้ววันนี้ก็มาถึงค่ะ วันที่เราจะต้องทำการจัดรอบเพื่อบำรุงดูแลรักษาโซลินอยด์วาล์ว หรือที่ใครหลายๆท่านทราบดีว่ามันเป็นการ Maintenance โซลินอยด์วาล์วตัวน้อยๆของเรานั่นเอง ถามว่าทำไมต้องจัดรอบเพื่อทำ Maintenance ด้วย? คำตอบก็ง่ายๆเลยค่ะคือ สิ่งของหรือเครื่องมือเครื่องใช้ไฟฟ้าอะไรก็แล้วแต่ ที่เราจำเป็นต้องใช้งาน และมีความสำคัญในระดับต้นๆต่ออาชีพหรือธุรกิจของเรา เมื่อเราใช้งานไปสักระยะ เครื่องมือเหล่านั้นจะมีการเสื่อมถอยด้านประสิทธิภาพหรือด้านการทำงานลง ซึ่งค่าเสื่อมนี้อาจจะมาจากหลายสาเหตุด้วยกันเช่น อายุการใช้งาน ความถี่การใช้งาน หรือการดูแลเอาใจใส่ของผู้ใช้ แบบนี้เป็นต้นค่ะ

ดังนั้นหากเราต้องการใช้งานเครื่องมือเครื่องใช้หรืออุปกรณ์เหล่านั้นอยู่ และต้องการใช้ไปนานๆ ไม่อยากเสียเงินซื้อใหม่ เราจะต้อง "จัดรอบ Maintenance เพื่อบำรุงรักษาอุปกรณ์" ค่ะ

ซ่อมบำรุงโซลินอยด์วาล์ว ทำอย่างไรบ้าง

นิยามของโซลินอยด์วาล์ว: โซลินอยด์วาล์วเป็นอุปกรณ์ง่ายๆ โครงสร้างไม่ซับซ้อนมาก นิยมนำไปใช้ในการควบคุมหรือเปิด-ปิดของไหล ซึ่งของไหลที่ว่านี้ก็จะประกอบไปด้วย ของไหลที่เป็นน้ำ หรือเคมีที่มีความหนืดไกล้เคียงกัน หรือแม้กระทั่งลม แก๊ส และน้ำมัน เป็นต้น

วาล์วโซลินอยด์สามารถนำไปใช้งานได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับการใช้งานของเรา บ้างก็นำไปติดตั้งเพื่อเปิด-ปิดน้ำที่เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไป หรือนำไปติดตั้งในระบบนิวเมติกส์เพื่อควบคุมการจ่ายลมให้อุปกรณ์อื่นๆทำงานต่อไปได้ ส่วนประโยชน์นั้น เราคงไม่ต้องพูดถึงค่ะ เพราะดูจากในปัจจุบันที่มีการนำวาล์วประเภทนี้ไปใช้งานกันอย่างแพร่หลาย บอกได้เลยค่ะว่า "คุ้มค่าต่อการลงทุนเป็นอย่างมาก"

วกมาเรื่องของการบำรุงรักษาวาล์วโซลินอยด์กันต่อค่ะ ประเด็นหลักที่จะแนะนำให้ผู้อ่านได้อ่านกันในวันนี้คือ "การบำรุงดูแลรักษาโซลินอยด์วาล์ว ในระบบขนาดเล็ก-กลาง" เพื่อเรียกความคุ้มค่ากลับคืนมา เราจะต้องทำอย่างไรบ้าง และอะไรบ้างที่ต้องทำความเข้าใจ ให้ความสำคัญ หรือต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

หมายเหตุ: ขั้นตอนและคำแนะนำ อาจจะไม่ครอบคลุมกับหลายๆระบบ แต่ท่านสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้ค่ะ

ก่อนที่จะเริ่มต้นขั้นตอน ท่านจะต้องเข้าใจก่อนว่าคำถามเหล่านี้คืออะไร?

ชั้นตอนการบำรุงรักษาโซลินอยด์วาล์ว

  • โอกาสที่ทำให้วาล์วทำงานผิดพลาดในช่วงใช้งาน มีอยู่เท่าไหร่?
  • มีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยหรือไม่? กรณีที่วาล์วเกิดความเสียหายกลางคัน
  • ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเริ่มจากเมื่อวาล์วเสียหายหรือทำงานผิดพลาด ไปจนถึงสามารถกลับมาใช้งานได้ปรกติ
  • ค่าใช้จ่ายในการบำรุงดูแลรักษาโซลินอยด์วาล์ว ไม่ว่าจะเป็นเวลาหรือแรงงานคน

โดยปรกติแล้วการซ่อมบำรุงอะไรก็แล้ว มักจะดำเนินการในช่วงใดช่วงหนึ่งเป็นระยะเวลาสั้นๆ กับโซลินอยด์วาล์ว, ระบบนิวเมติกส์ในโรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนระบบอื่นๆที่เราพบเห็นได้ทั่วไปเช่น ระบบสั่งจ่ายน้ำในฟาร์ม ในสวนผักหรือผลไม้ที่มีการติดตั้งวาล์ว ล้วนคล้ายกันทั้งสิ้น นั่นคือ เราต้อง "ปิดระบบการใช้งานไว้ก่อนชั่วคราวเพื่อทำการ Maintenance"

ถ้าระบบไม่ใหญ่มาก อุปกรณ์ไม่เยอะ อาจจะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ภายในไม่กี่วัน แต่ถ้าระบบที่ซับซ้อนหน่อยก็อาจจะกินเวลาไปหลายวันค่ะ ดังนั้นก่อนปิดระบบ เราจะต้องพิจารณาในเรื่องต่างๆให้รอบคอบก่อนเสมอ เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งในเรื่องของเวลาและค่าใช้จ่ายค่ะ

"ความถี่" ก็ถือได้ว่าเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความจำเป็นและควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ ซึ่งถ้าหากระบบของท่านมีความถี่ในการบำรุงดูแลรักษาที่ดีและสม่ำเสมอ ถูกต้องตามคู่มือการใช้งานวาล์ว ท่านก็จะสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ อีกทั้งยังช่วยให้วาล์วมีอายุการใช้งานที่ยาวขึ้นได้อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น หมั่นตรวจสอบน้ำมันหล่อลื่น(ถ้าเป็นโซลินอยด์วาล์วลมแบบพิเศษ) หรือเปลี่ยนอุปกรณ์เล็กน้อยรอบๆวาล์วเพื่อที่ทำให้วาล์วอยู่ได้นานขึ้น แบบนี้เป็นต้น หรือแม้กระทั่งตรวจเช็คสภาพแวดล้อมรอบๆพื้นที่ที่ติดตั้งวาล์ว อันนี้ก็สำคัญไม่แพ้กันค่ะ

ในกรณีที่เป็นโซลินอยด์วาล์วที่ใช้งานทั่วไป เราควรระวังในเรื่องของอากาศที่แห้งหรือร้อนเกินไป หรือการขาดน้ำมันหล่อลื่น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจจะทำให้โซลินอยด์วาล์วเสียรูปทรงหรือเสื่อมสภาพได้ และที่ลืมไม่ได้คือแร่ธาตุ/ตะกรันที่ติดอยู่ในวาล์วในกรณีที่เราไม่ค่อยใช้งานหรือนานๆใช้งานเพียงบางครั้งเท่านั้น

ถ้าหากเป็นวาล์วที่มีรู orifice ขนาดเล็กหรือมีรูสำหรับระบายอากาศ เราก็จะต้องตรวจเช็ครูเหล่านี้ด้วยว่า รูจะต้องไม่ตัน หรือของไหลไม่ว่าจะเป็น น้ำ ลม หรือแก๊สจะต้องไหลได้อย่างสะดวก ซึ่งถ้าหากเราบำรุงรักษาได้ถึงจุดนี้ ก็จะสามารถยืดอายุการใช้งานให้กับวาล์วได้เช่นกันค่ะ

ซ่อมแซมหรือเปลี่ยนใหม่ดี?

ซ่อมแซมวาล์วโซลินอยด์

ในกรณีที่เราตรวจสอบพบว่าโซลินอยด์วาล์วเสื่อมสภาพแล้ว(แต่ยังใช้งานได้อยู่) หรือครบอายุการใช้งานแล้ว และไม่แน่ใจว่าควรจะซ่อมหรือว่าเปลี่ยนใหม่ดี เราควรทำอย่างไร? ถ้าท่านประสบกับปัญหานี้ สิ่งที่ท่านจะต้องคำนึงถึงคือ:

  • ความปลอดภัย: ถ้าหากวาล์วเสื่อมสภาพ หรือครบอายุการใช้งาน ปัญหาที่อาจจะตามมาคือ ทำงานผิดพลาดจนทำให้ระบบชงักลงได้ หรือที่แย่ไปกว่านั้นคือทำให้อุปกรณ์ตัวอื่นที่อยู่ใกล้เคียงได้รับความเสียหาย หรือเป็นอันตรายต่อมนุษย์
  • ราคาโซลินอยด์วาล์ว: ตัวใหม่ในรุ่นเดิม หรือรุ่นใกล้เคียง คุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่ ตลอดจนระยะเวลาในการซื้อตัวใหม่มาใช้แทนตัวเก่าด้วย(ส่วนใหญ่ในระบบทั่วไปๆจะมีอุปกรณ์ไว้สำรองอยู่แล้ว)
  • ซ่อมแซม: ถ้าหากต้องการซ่อมแซม เราจะต้องพิจารณาในเรื่องของผลลัพธ์การทำงานจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อระบบหลักในระยะยาว

ความยากง่ายของการออกแบบระบบ

ท่านเชื่อหรือไม่ว่า "ความซับซ้อนของระบบ" ก็มีผลต่อการบำรุงรักษาวาล์วเช่นกัน ซึ่งถ้าหากซับซ้อนมากเกินไปก็อาจจะทำให้ต้องใช้เวลาในการปิดระบบและบำรุงรักษามากขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งยังต้องระมัดระวังในเรื่องของผลกระทบที่จะตามมาอีกด้วย แต่ถ้าหากเคยบำรุงรักษาแล้วครั้งหนึ่งครั้งต่อไปก็จะสามารถทำได้ง่ายขึ้น

ส่วนระบบที่มีการออกแบบที่เรียบง่าย ข้อดีคือผู้ปิดระบบไม่ต้องกังวลในเรื่องดังกล่าว ใช้ระยะเวลาและค่าใช้จ่ายน้อยกว่า แต่ข้อเสียคือความยืดหยุ่นและความปลอดภัยอาจจะมีน้อยกว่าระบบที่มีขนาดกลาง-ใหญ่

การซ่อมบำรุงโซลินอยด์แบบทั่วไป

ในการซ่อมบำรุงรักษาโซลินอยด์วาล์วนั้นไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลยค่ะ ซึ่งที่เห็นได้ทั่วไปก็จะเป็นในส่วนของการเปลี่ยนซีลยางและสปริงที่อาจจะเสื่อมสภาพตามรอบเท่านั้น หากครบรอบซ่อมบำรุงหนึ่งครั้ง ท่านควรเปลี่ยนอุปกรณ์ทั้งสองตัวนี้ด้วย(หรือหากพบว่ามีของไหลรั่วซึมออกมาด้านนอก) นอกจากนี้ยังต้องตรวจเช็คตำแหน่งที่ติดตั้งวาล์วด้วยว่ามีการเคลื่อนที่หรือไม่ ถ้าใช่ก็ให้ท่านเลื่อนตำแหน่งวาล์วกลับสู่ที่เดิมที่เคยติดตั้งครั้งแรกค่ะ

อุปกรณ์ที่ช่วยในการซ่อมบำรุงวาล์ว มีไว้อุ่นใจได้เยอะ

ในบางระบบหรือบางสถานที่มีการใช้งานโซลินอยด์เป็นอุปกรณ์ขับเคลื่อน มักจะมีอุปกรณ์เสริมย่อยต่างๆไว้สำรองเวลาปิดระบบซ่อมบำรุงค่ะ ยกตัวอย่างเช่น ซีลของวาล์วในรุ่นที่ใช้งานอยู่ สปริง น็อตหรือแม้กระทั่งอะไหล่จำพวกบอดี้ของวาล์ว แหวน ยางโอริง และแผ่นไดอะแฟรม เป็นต้น ซึ่งถ้าเป็นโซลินอยด์วาล์วบอดี้ทองเหลืองด้วยล่ะก็ บอกได้เลยค่ะว่าผู้ใช้จะต้องมีสิ่งเหล่านี้สำรองไว้ ยามฉุกเฉินสามารถช่วยท่านได้แน่นอน

เอาล่ะค่ะ ทีนี้เรามาดูประเด็นสำคัญของหัวข้อนี้กัน ซึ่งคิดว่าหลายท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้คงอยากจะทราบแล้วแน่นอนค่ะว่า "ตกลงจะซ่อมบำรุงรักษาโซลินอยด์วาล์วยังไง?"

1) Safety First ปลอดภัยไว้ก่อน พ่อสอนไว้: คำว่า safety first ในที่นี้หมายถึง ก่อนที่ท่านจะทำการซ่อมบำรุงวาล์ว ท่านควรปิดระบบจ่ายไฟให้กับระบบและวาล์วเสียก่อน เพราะไม่เช่นกระแสไฟฟ้าอาจทำอันตรายต่อท่านได้

2) รอให้ระบบคลายตัว: การคลายของระบบหมายถึง หลังจากปิดกระแสไฟฟ้าที่จ่ายให้กับระบบแล้ว อาจจะยังมีแรงดัน ของไหล หรือสิ่งอื่นๆที่สามารถทำอันตรายต่อผู้ดำเนินการได้ ดังนั้นหลังปิดกระแสไฟฟ้าแล้ว ให้เรารอสักระยะหนึ่งซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละระบบว่าใช้ระยะในการคลายตัวมากน้อยขนาดไหน หลังจากนั้นเราค่อยเริ่มดำเนินการในขั้นตอนถัดไปค่ะ

3) ตรวจสอบคอยล์ของวาล์ว: ในขั้นตอนนี้ให้ท่านเช็คดูด้วยสายตาก่อนว่า คอยล์ของโซลินอยด์วาล์ว มีรอยแตกร้าว หรือจุดผิดสังเกตุหรือไม่ ซึ่งรอยแตกร้าวนี้จะเกิดจากความชื้นที่อาจจะเข้าไปสะสมอยู่ในคอยล์ และถ้ามีปริมาณที่มากเกินไปอาจจะทำให้คอยล์ไหม้ได้ จากนั้นให้เช็คจุดต่อระหว่างขดลวดไฟฟ้าที่อยู่ในคอยล์กับ connector ว่ามีสนิม คราบโลหะอื่นๆติดอยู่หรือไม่ เพราะคราบเหล่านี้อาจจะทำให้เกิดประกายไฟฟ้าขึ้นในคอยล์ หรือทำให้คอยล์ไหม้ได้ สุดท้ายคือถ้าหากเป็นคอยล์ไฟฟ้าแบบ VAC ห้ามต่อไฟเข้ากับคอยล์โดยตรงโดยที่คอยล์ไม่ได้สวมติดอยู่กับโซลินอยด์วาล์ว เพราะนั่นคือจุดจบของคอยล์ตัวน้อยของเราเช่นกันค่ะ(คอยล์ไหม้)

4) ถอดคอยล์ออกจากตัววาล์ว: การถอดคอยล์นั้นไม่ใช่เรื่องยากค่ะ เพราะคอยล์ส่วนใหญ่มักจะแค่สวมลงวาล์วแค่นั้น ให้ท่านค่อยๆ ดึงคอยล์ขึ้นมาอย่างช้าๆค่ะ แต่ก่อนจะดึงวาล์วขึ้นมาได้ ท่านจะต้องใช้ประแจขันน็อตที่ยึดติดคอยล์ที่อยู่ด้านบนออกเสียก่อน

5) ถอดอุปกรณ์ย่อยทีละส่วน: ก่อนที่เราจะสามารถถอดชิ้นส่วนต่างๆที่อยู่ภายในตัวโซลินอยด์วาล์วออกจากกัน เราจะต้องขันน็อตที่ยึดส่วนบนและส่วนล่างของวาล์วทั้ง 4 ตัว(หรือมากกว่านั้น) ออกให้หมดเสียก่อน แล้วหลังจากนั้นค่อยไล่ถอดอุปกรณ์ออกจากวาล์วทีละตัว ยกตัวอย่างเช่น สปริง ซีล โอริง plunger เป็นต้น ขั้นตอนนี้ท่านสามารถตรวจสอบอุปกรณ์ย่อยแต่ละตัวว่าเสื่อมสภาพหรือเปลี่ยนสภาพหรือไม่ ถ้าคิดว่าคงใช้ได้ไม่นานแล้วให้ท่านนำอุปกรณ์ที่สำรองหรือเตรียมไว้เปลี่ยนแทนได้เลยค่ะ เพราะมันจะสามารถชุบชีวิตให้วาล์วของเรากลับมาทำงานได้ดีเหมือนเดิมได้

6) ทำความสะอาดวาล์ว+ชิ้นส่วนถ้าเป็นไปได้: ในกรณีที่เราพบว่าภายในตัววาล์วนั้นมีสิ่งสกปรกฝังอยู่เป็นจำนวนมาก ให้ท่านทำการล้างทันที ไม่ต้องปล่อยทิ้งไว้ค่ะ รวมทั้งอุปกรณ์ที่ถอดออกมาก่อนหน้านี้ด้วย ท่านใดสงสัยเกี่ยวกับการล้าง สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่เนื้อหา ขั้นตอนการล้างทำความสะอาดโซลินอยด์วาล์ว

7) ประกอบชิ้นส่วนและวาล์วเข้าที่เดิม: ในขั้นตอนนี้ท่านจะต้องจำให้ได้ค่ะว่า อันไหนเป็นอันไหน อันไหนเข้าก่อน-หลัง เมื่อประกอบเสร็จเรียบร้อยแล้วก็นำโซลินอยด์วาล์วติดตั้งกลับไว้ที่เดิม

8) ตรวจทานภาพรวมทั้งหมด: ก่อนที่จะเปิดระบบ ให้ท่านตรวจสอบผลการปิดซ่อมบำรุงเสมอว่าถูกต้องและครบถ้วนแล้วหรือไม่ เมื่อแน่ใจแล้วก็สามารถเปิดระบบเพื่อใช้งานในโหมดปรกติได้เลยค่ะ

สรุปแล้วคือ?

บางท่านอ่านแล้วอาจจะคิดว่ายาก หรือบางท่านอาจจะคิดว่าทำได้ ซึ่งจริงๆแล้วแอดมินคิดว่าคงไม่ยากเกินความสามารถของทุกคนค่ะ เพียงแค่เราเข้าใจและทำตามขั้นตอนให้ถูกต้องครบถ้วนแค่นั้นเอง พอครั้งถัดไปมันก็จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับเราแล้วล่ะค่ะ และสุดท้ายก็คือ เราได้โซลินอยด์วาล์วที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพกลับคืนมานั่นเอง สำหรับวันนี้สวัสดีค่ะ